สถานการณ์การส่งออกกัมพูชาปลายปีที่ผ่านมาไม่กระเตื้อง


รายงานการส่งออกประเทศกัมพูชาเปิดเผยถึงสถานภาพการส่งออกของกัมพูชามีผลผลิตทางการเกษตร 2.9 ล้านตันในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปริมาณที่ใกล้เคียงกับการส่งออกในปี 2555 โดยเป็นการส่งออกมันสำปะหลังแห้ง 1 ล้านตัน มันสำปะหลังสด670,000 ตัน ข้าวสาร 370,000 ตัน น้ำตาล 200,00 ตัน ข้าวโพด 160,000 ตัน และเม็ดมะม่วงหิมพานต์80,000 ตัน อย่างไรก็ตามนักวิชาการหลายคนเห็นว่าข้อมูลนี้อาจไม่ได้สะท้อนถึงศักยภาพในการส่งออกที่แท้จริงของกัมพูชานอกจากนั้นเกษตรกรมักประสบปัญหาการส่งออกไปยังประเทศไทยและเวียดนามในฤดูเก็บเกี่ยว เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตมากจนส่งผลให้ราคาต่ำลง ซึ่งสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการรองรับผลผลิตทางการเกษตรจากกัมพูชา แต่เนื่องจากกัมพูชายังไม่มีความสามารถในการแปรรูป จึงทำให้เสียโอกาสที่จะส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้

 

นายอุก ราบุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกล่าวว่า จากการสำรวจ เกษตรกรจำนวนมากได้เปลี่ยนจากการผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือนหรือบริโภค มาเป็นการผลิตเพื่อการค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นปัญหาที่ทำให้การผลิตภาคการเกษตรยังไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร รวมถึงการที่กัมพูชามักส่งออกผลผลิตขั้นต้นเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้สูญเสียรายได้จากมูลค่าเพิ่ม

 

 ทางด้าน GDP ยังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ยอดการจดทะเบียนธุรกิจจะลดลง จากปัญหาทางการเมืองในปีที่ผ่านมา เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยอดการจดทะเบียนธุรกิจในปี 2556 ลดลง 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน  ข้อมูลอย่างเป็นทางการของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่ามีการจดทะเบียนธุรกิจประมาณ 3,000 ลดลงจากปี 2555 ที่มีจำนวน 3,386 รายนางจีรนันท์ วงษ์มงคล ผอ. สคร. ณ กรุงพนมเปญให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นายเคน รฐา โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ส่งผลต่อการลงทุนในกัมพูชา นอกจากนั้นยังรวมถึงสภาพแวดล้อมทางการลงทุน เช่น ภาษี และภาษีศุลกากร ที่อาจส่งผลกระทบ เช่นเดียวกัน แต่คงเป็นเรื่องยากที่จะสรุปสาเหตุที่แน่ชัด

 

กระทรวงพาณิชย์ปฏิรูปการทำงานให้พร้อมรับนักลงทุน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นายซัน ชานตอล (Sun Chantol)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศยกเลิกการใช้ใบรับรองแหล่งกำเนิดสำหรับส่งออกไปยังประเทศที่ยกเว้นการตรวจเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออก นอกจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการพัฒนาระบบอัตโนมัติสำหรับการออกใบรับรองแหล่งกำเนิด ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกไม่จำเป็นต้องเดินทางมายังกระทรวงพาณิชย์ เพียงแค่ส่งข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ผ่านช่องทางออนไลน์

 

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แนะผู้ส่งออกปรับตัวเพื่ออยู่รอด สิ่งจำเป็นที่ต้องทำคือ ลดต้นทุนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น ปรับกระบวนการทำงานให้ใช้เวลาลดลง ลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง อย่างไรก็ตาม แม้กรมฯ จะกำหนดแผนงาน และยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวให้ได้ตามเป้าหมายแล้วแต่ในส่วนของผู้ผลิต และผู้ส่งออกยังจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และแข่งขันได้ เพราะยังมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ยังต้องเผชิญอย่างรุนแรง

 

ญี่ปุ่นยืนยันสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ที่ปอยเปต นักลงทุนจากญี่ปุ่นได้ร่วมทุนกับบริษัท ซันโค อินเวสเม้นท์ กรุ๊ป Sanco Investment (SIG) ของกัมพูชา ในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่จังหวัดบันเตียเมียนเจย ด้วยเงินลงทุน 56 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ทั้งนี้โรงงานการ์เม้นท์ในไต้หวันเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ของกัมพูชา โรงงานแกรนด์ทวิน อินเตอร์เนชั่นแนล Grand Twins International (GTI) เป็นโรงงานการ์เม้นท์ของไต้หวันที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งกัมพูชา (SECC) ให้สามารถขึ้นทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชาได้ด้วยจำนวนหุ้นเริ่มต้น 8 ล้านหุ้น ราคาหุ้นอยู่ระหว่าง 1.85-3.50 USD โดยคาดว่าจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นมาใช้ในการสร้างโรงงานแห่งใหม่