ธุรกิจค้าปลีกของไทยที่เป็นห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ยังมีสัดส่วนน้อย แต่มีแนวโน้มเติบโตสูง ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจ ค้าปลีกสมัยใหม่เหล่านี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นและเติบโตสูงจากการเร่งขยายสาขาอย่างก้าวกระโดดในทุกรูปแบบทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ทั้งนี้ แม้ว่าห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่จะมีสัดส่วนเพียงราว 40% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด แต่อัตราขยายตัวสูงถึงราว 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียที่ตลาดค่อนข้างจะอิ่มตัวแล้ว อย่างเช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง ที่เติบโตโดยเฉลี่ยราว 3 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี และยังเป็นอัตราเติบโตที่สูงกว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกโดยรวมของไทยที่ขยายตัว 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปีอีกด้วย
ธุรกิจค้าปลีกสรรพสินค้าถึงจุดอิ่มตัวแล้วหรือยัง
โอกาสในการขยายสาขาของธุรกิจสรรพสินค้าของไทยยังมีอีกมาก โดยเฉพาะโมเดลขนาดเล็ก แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา สาขาของสรรพสินค้าจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีการเติบโตถึงปีละ 400-500 สาขา แต่เมื่อประเมินอัตราการเข้าถึง (penetration rate) ของธุรกิจสรรพสินค้า ซึ่งคำนวณจากสัดส่วนของสาขาต่อจำนวนประชากรแล้ว พบว่าในประเทศไทย ยังมีโอกาสขยายสาขาได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะโมเดลขนาดเล็ก ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบจำนวนสาขาของสรรพสินค้าประเภทต่างๆ ของไทยกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย (ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี และสิงคโปร์) ที่ตลาดค่อนข้างจะอิ่มตัวแล้ว จะพบว่าสาขาของไฮเปอร์มาร์เก็ตค่อนข้างจะใกล้ถึงจุดอิ่มตัว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ โดยไทยมีจำนวนสาขาโดยเฉลี่ยทั้งประเทศต่อประชากรที่ 4 สาขาต่อ 1 ล้านคนซึ่งมากกว่าสิงคโปร์ไปแล้ว แต่ยังต่ำกว่าของเกาหลีใต้ที่อยู่ที่ 8 สาขาต่อ 1 ล้านคน แต่หากเทียบในส่วนของธุรกิจสรรพสินค้าขนาดเล็กอย่างซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ จะเห็นว่ายังมีความแตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ไทยมีความหนาแน่นของสาขาน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึงราว 10 เท่า โดยในฮ่องกง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้มีสาขามากถึงราว 150 สาขาต่อ 1 ล้านคน เทียบกับไทยที่อยู่ที่เพียง 14 สาขาต่อ 1 ล้านคนเท่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก
จับตามองภาวะการแข่งขันและเทรนด์การเติบโต
แนวโน้มการแข่งขันและกลยุทธ์การปรับตัวของผู้ประกอบการ การขยายสาขาของธุรกิจสรรพสินค้าสมัยใหม่เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ยอดขายต่อตารางเมตรของร้านค้าแต่ละประเภทไม่เติบโตเท่าที่ควร สะท้อนถึงภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ในช่วงปี 2552-2555 ธุรกิจค้าปลีกแต่ละประเภทมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากพื้นที่ขายที่เติบโตสูง โดยไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เติบโตกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ ใน 3 ปีที่ผ่านมากลับมียอดขายต่อตารางเมตรเติบโตเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีพื้นที่เติบโต 7 เปอร์เซ็นต์ แต่ยอดขายต่อตารางเมตรลดลง 2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ร้านสะดวกซื้อยังคงมี
ยอดขายต่อตารางเมตรเติบโตไปในอัตราเดียวกันกับพื้นที่ขายที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้ามองแนวโน้มในระยะต่อไป ร้านสรรพสินค้า โดยเฉพาะผู้ค้าปลีกรายใหญ่ยังคงเร่งขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มของตลาดทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือในต่างจังหวัด ส่งผลให้แนวโน้มยอดขายต่อตารางเมตรยังคงไม่สูงมากนัก ทำให้ผู้ค้าปลีกแต่ละรายมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การแข่งขันเป็นในลักษณะของการแข่งขันข้ามกลุ่ม และเน้นการเป็น”รวมศูนย์ ช้อปปิ้ง” โดยเพิ่มร้านค้ารูปแบบอื่นๆ และการให้บริการนอกเหนือจากการเป็นสถานที่ขายสินค้าค้าปลีกเพียงอย่างเดียว
ข้อมูลจาก:“ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์”