สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ ฮ่องกง รายงานว่า ผู้ผลิตสิ่งทอฮ่องกงได้ลงนามในสัญญาเพื่อจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมแห่งแรกขนาด 200 เฮกตาร์ (ประมาณ 1,250 ไร) ในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งคาดว่าจะลดต้นทุนการผลิตได้กว่าครึ่งหนึ่ง โดยค่าจ้างแรงงานที่เขตอุตสาหกรรมดังกล่าวจะลดลงเหลือเพียง 1 ใน 5 ของค่าจ้างแรงงานในจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้กลางปี 58 และจะเริ่มผลิตได้ภายในปี 59
เขตอุตสาหกรรมดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของ Thilawa Special Economic Zone โดยคาดว่าจะ จ้างแรงงานเมียนมาร์ได้อย่างน้อย 30,000 คน ค่าแรงอยู่ที่ประมาณ 100 – 200 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ทั้งสินค้าที่ส่งออกจากเมียนมาร์ไปยังสหภาพยุโรป(อียู)จะไม่เสียภาษีนําเข้าอีกด้วย อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนในจีนยังไม่เห็นแนวโน้มของผู้ผลิตที่จะย้ายฐานการผลิต แต่ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมาก อาทิ ขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งหากต้องส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่อียู ก็ไม่ควรย้ายฐานการผลิตไปเมียนมาร์ เพราะการขนส่งจะลําบากกว่าเดิม
รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ ฮ่องกง แจ้งว่า อุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งหุ่มต่างชาติ เริ่มให้ความสําคัญในการลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยได้ย้ายฐานการผลิตจากจีน ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานต่ำแล้ว ไปยังเมียนมาร์ที่มีค่าจ้างแรงงานลดลงไปอีก 20% รวมทั้งหวังใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ไม่เสียภาษีนําเข้าที่อียูให้แกเมียนมาร์อีกด้วย
สําหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มนั้น ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า ปัจจุบันไทยมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องค่าจ้างแรงงาน ทําให้ไม่อาจแข่งขันในเรื่องราคาได้ต่อไป โดยเฉพาะหากมองว่าคู่ค้าของไทยอย่างฮ่องกง พยายามเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการลดต้นทุนการผลิตเช่นกัน ดังนั้นแทนที่ผู้ประกอบไทยจะพยายามแข่งขันในเรื่องราคา ควรจะหันไปให้ความสําคัญในเรื่องการยกระดับการผลิต และพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานและคุณภาพสูง สร้างแบรนด์ของตนให้มีชื่อติดตลาด พัฒนาการบริหารจัดการ การวิจัยและพัฒนาสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างมูลค่า เพิ่มให้สินค้าไทยและเปลี่ยนไปเจาะตลาดบนแทนแข่งขันด้านราคาในตลาดล่าง
นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากการเป็นฐานการผลิตเดียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ให้เต็มที่ โดยพิจารณาการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตให้มีประสิทธิภาพครบวงจรทั้งกระบวนการผลิตและการตลาด หรือ พิจารณาขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงต่ำ อาทิ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปริมาณการส่งออกเครื่องนุ่งห่มยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลักของไทย (อเมริกาและอียู) ดังนั้นไทยควรหันมาเน้นตลาดใหม่ อาทิ อาเซียน ซึ่งเมื่อปี 56 ก็เป็น ตลาดส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ใหญ่ที่สุดของไทยและมีศักยภาพในการขยายตัวสูง โดยไทยยังมีความเข้มแข็งในการผลิต สินค้าประเภทต้นน้ำและกลางน้ำ เช่น ผ้าผืนและเส้นด้าย เนื่องจากมีเทคโนโลยีในการผลิตที่มีประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน ไทยจึงไม่ควรละเลยสินค้าเหล่านี้และเน้นพัฒนาคุณภาพผ้าผืนและเส้นด้ายให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อคงความเป็นสินค้าดาวเด่นของไทยต่อไป