กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามุ่งยกระดับแฟรนไชส์ไทยสู่สากล ต้อนรับAEC ปี 57


กรมพัฒนาธุรกิจการค้าผลักดันแฟรนไชส์ไทยเพื่อยกระดับธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีมาตรฐานเทียบสากล มีกลยุทธ์การจัดการที่ทันสมัย สามารถสร้างธุรกิจให้เติบโตเข้มแข็งจนขยายธุรกิจสู่ตลาดใหญ่อย่าง AEC ได้ ซึ่งต้องมีการจัดการ control ที่ดีก่อนที่จะขายแฟรนไชส์ให้แก่นักลงทุน

 ความสำคัญของมาตรฐานแฟรนไชส์ต่อการขยายธุรกิจสู่ AEC

ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟรนไชส์ กล่าวว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยในขณะนี้อยู่ในระดับที่ต้องมีการเติบโตทางด้านธุรกิจเป็นอย่างมาก ในอีกไม่กี่เดือนจะเริ่มเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งตลาดการค้าเสรีจะเริ่มเปิดกว้างขึ้นแล้ว และประเทศที่มีธุรกิจแฟรนไชส์เติบโตมากที่สุด คือ ประเทศจีนที่มีการเจริญเติบโตแฟรนไชส์กว่า 4,800 กว่าราย ,ประเทศญี่ปุ่น 2,400 ราย และประเทศฟิลิปปินส์ 1,750 ราย

การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จำเป็นต้องให้ธุรกิจเติบโตพอที่จะสามารถขยายธุรกิจให้กับผู้ที่สนใจทำแฟรนไชส์ก่อน หากธุรกิจยังไม่เติบโตและแข็งแรงพอ ทั้งยังไม่สามารถ control ควบคุมระบบแฟรนไชส์ได้ ไม่ควรขายธุรกิจแฟรนไชส์ ให้แก่นักลงทุน เพราะหากชาวต่างชาติซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดธุรกิจแฟรนไชส์ซีที่ต่างประเทศ แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ ทางแฟรนไชส์ซีก็จะมองแฟรนไชส์ซอ ซึ่งเป็นผู้ค้าในด้านลบได้ ฉะนั้นในเมื่อธุรกิจเรายังไม่เติบโตก็เปรียบเสมือนไม่สามารถดูแลสาขาอื่นได้ โดยภาพรวมขณะนี้ แฟรนไชส์ที่สามารถขยายธุรกิจไปสู่ต่างประเทศได้ดี มักจะเป็นประเภทธุรกิจที่เกี่ยวกับไก่มากกว่า เพราะไก่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกกลุ่มโดยไม่มีการปิดกั้น และไก่ยังโตได้ไวกว่าสัตว์ประเภทอื่น ทันพอที่จะนำมาปรุงรสได้

 

 การสร้างมาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้เข้มแข็ง

ดร.พีระพงษ์ กล่าวต่อว่า การสร้างมาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้เข้มแข็งนั้น ต้องเริ่มจากการเรียนรู้เรื่องแฟรนไชส์ให้กว้าง อีกทั้งต้องสร้างธุรกิจของตนเองให้เติบโตที่จะเป็นฐานให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการมาเป็นส่วนหนึ่งในระบบแฟรนไชส์กับเรา ดังนั้นการทำให้แฟรนไชส์ให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง อย่างแรกต้องมาจาก 1.ภาครัฐ 2. Knowhow ความรู้ความเข้าใจในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ 3.สถาบันการเงินที่จะสามารถให้สินเชื่อแก่ธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งในขณะนี้ธนาคารที่บริการสินเชื่อให้แก่ธุรกิจแฟรนไชส์มีเพียงธนาคารเดียวเท่านั้น คือธนาคารกสิกรไทย โดยการนำร้านแฟรนไชส์เป็นตัวค้ำประกัน เพื่อขอสินเชื่อ

การขายแฟรนไชส์ต้องมีระบบสัญญาแบบมาตราฐาน 10 ปีเป็นต้นไป ซึ่งจะได้คุ้มกับผู้ที่ลงทุนซื้อแฟรนไชส์กับเรา เพราะส่วนมากคนที่มีทุน 300,000 บาท ก็อยากลงทุนทำธุรกิจแล้ว ก็ควรให้สิทธิคุ้มกับเงินที่ลงทุนไปด้วย ขณะเดียวกันการลงทุนไปปีแรกอาจมีการขาดทุนถึง 50% เพราะฉะนั้นผู้ลงทุนมักถอดใจตอนเริ่มต้นเสมอ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์ซอ ต้องมีค่ารอยัลตี้(Royalty Fee) ซึ่งเป็นค่าสิทธิต่อเนื่องบนรายได้ที่แฟรนไชส์ซีได้ จากการดำเนินธุรกิจที่ได้รับสิทธิ เสมือนหนึ่งเป็นภาษีทางธุรกิจ หรือค่าสมาชิกสโมสรที่ทุกคนที่เป็นสมาชิกต้องช่วยเหลือ สนับสนุนเพื่อนำไปพัฒนานั่นเอง ผู้ที่เป็นแฟรนไชส์ซอ ต้องมีโปรโมชั่น เพื่อโปรโมทให้กับแฟรนไชส์ซี ทั้ง ประชาสัมพันธ์ให้ จัดงาน Event มีสิ่งพิมพ์(Publication) ให้ รวมไปถึงมีการโฆษณา(Advertising) ให้กับแฟรนไชส์ซี การเป็นแฟรนไชส์ซอควรมีส่วนร่วมในการประกอบธุรกิจกับแฟรนไชส์ซี ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรวยหรือจน ต้องรวยไปพร้อมๆกัน อีกทั้งห้ามขยาย แฟรนไชส์ซีออกนอกประเทศ โดยที่มีสาขาแฟรนไชส์เพียง 2 สาขา ต้องทำธุรกิจของตนเองให้เติบโตก่อนเข้าสู่ตลาด ส่วนมาตรฐานของแฟรนไชส์ซี หากอยู่ในระยะสัญญาไม่ควรขายแฟรนไชส์ให้กับผู้อื่น หรือขยายแฟรนไซส์โดยตนเองไม่ได้เป็นเจ้าของ

ยกมาตรฐานคุณภาพแฟรนไชส์ 57 มุ่งสร้างความแข็งแกร่งผู้ประกอบการไทยสู่ระดับสากล

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เร่งผลักดันยกระดับมาตรฐานคุณภาพธุรกิจแฟรนไชส์ อย่างต่อเนี่อง กระทั่งเป็นปีที่ 7 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล มีกลยุทธ์การบริหารจัดการธุรกิจที่ทันสมัย สามารถขยายธุรกิจในตลาดขนาดใหญ่อย่าง AEC ได้

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าหวังมุ่งให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทยตระหนักถึงการสร้างมาตรฐานคุณภาพธุรกิจอย่างยั่งยืน และยกระดับมาตรฐานคุณภาพธุรกิจแฟรนไชส์สู่เกณฑ์มาตรฐานระดับสากล โดยสร้างกิจกรรมให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมมาสัมมนาในครั้งนี้กว่า 120 ราย เพื่อสร้างความตระหนักในการยกระดับมาตรฐานแฟรน-ไชส์ และคัดเลือกธุรกิจแฟรนไชส์โดยการประเมินธุรกิจด้วยตนเอง และผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชล์ ทั้งจัดกลุ่มธุรกิจให้เหลือ 80 ราย อีกทั้งพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์สู่เกณฑ์มาตรฐานให้เหลือ 50 ราย ซึ่งเดือนสิงหาคมจะสรุปภาพรวมและประเมินผลโครงการที่ผ่านมาดร.พีระพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย