กสอ.รับสมัคร SMEs วงการแฟชั่น ไปพัฒนาเชิงลึกเตรียมรับ AEC


กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)กระทรวงอุตสาหกรรมผนึกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 9 หน่วยงานผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เข้าสู่ประเทศศูนย์กลางแฟชั่นของอาเซียนอย่างยั่งยืน รับสมัคร SMEs.ในวงการแฟชั่นไปคัดเลือกเพื่อพัฒนาขีดความสามารถเตรียมเข้าสู่ AEC

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมผนึกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 9 หน่วยงาน ผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ประเทศศูนย์กลางแฟชั่นของอาเซียน โดยจัด“โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย” เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพในกระบวนการผลิต ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายธุรกิจและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว กสอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันในการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกิจกรรมต่าง ๆได้แก่ การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการผลิตแก่สถานประกอบการ การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้สามารถจัดทำแบบจำลองธุรกิจได้ การให้ความรู้ ทางวิชาการ เทคโนโลยี และทักษะการผลิตแก่บุคลากร ทั้งนี้เพื่อต้องการยกระดับผู้ประกอบการ และนักออกแบบให้สามารถคาดการณ์แนวโน้มแฟชั่นไทยได้ และสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทยผ่านการสนับสนุนจากงานแฟชึ่นวีค (Fashion Week) โดยคาดว่าระยะเวลา 5 ปี จะสามารถสร้างการรับรู้ถึงความเป็นเมืองแฟชั่นของกรุงเทพฯ ผ่านการสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าแฟชั่นไทยเป็น Fast Fashion ด้วยเอกลักษณ์ 3 ด้าน คือ สินค้าหลากหลาย(Diverse) แตกต่าง(Distinct) และตอบสนองได้เร็ว(Dynamic) จนทำให้ยอกขายสินค้าและยอดการส่งออกสินค้าแฟชั่นไทยเพิ่มขึ้นด้วย

ผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยที่สนใจสามารถสมัครเพื่อเข้าการคัดเลือก หลังจากนั้นจะต้องผ่านการคัดเลือกเพื่อผ่านกระบวนการวิเคราะห์ วินิจฉัยปัญหาด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อจัดทำแผนให้คำปรึกษาในเชิงลึกต่อไป

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่  สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4 แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ 0 2367 8201-4หรือ เว็บไซต์ http://bisd.dip.go.th/

นอกจากนี้ นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า “โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย” กับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(ISMED) มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตและสมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้องอีก 7 สมาคม คือ สมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อมพิมพ์และตกแต่งสิ่งทอไทย สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี สมาคมช่างทองไทย สมาคมรองเท้าไทย สมาคมทอผ้าไทย และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ภายในงานจัดนิทรรศการผลงานของผู้ประกอบการหลายตราสินค้าสัญชาติไทยใน 3 อุตสาหกรรมมากกว่า 10 แบรนด์ อาทิ VIA Dante,Sea Star,Starford,Devy,Ferrani,Patnasilp,Grace of art,Craft art เป็นต้น ทั้งนี้ในปีพศ.2556 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยมีการส่งออกประมาณ 227,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า 53,000ล้านบาท อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 306,000 ล้านบาท รวมมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 486,000 ล้านบาท และมีการจ้างงานกว่า 3 ล้านคน

นางอรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยประกอบด้วย อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ประสบปัญหาในเรื่องข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุน ขาดการพัฒนานักออแบบอย่างต่อเนื่อง ขาดการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต และขาดการสร้างความแตกต่าง ส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง อย่างประเทศจีน อินเดีย และบางกลุ่มในอาเซียน ดังนั้นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนา SMEs เพิ่มความสามารถในการแข่งขันคืนมา อีกทั้งหลายปีที่ผ่านมานั้นประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักส่งออกหลักของไทย ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมไทยขยายตัวลดลง ทั้งนักลงทุนต่างชาติเริ่มย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำว่าประเทศไทย เช่น จีน อินเดีย และบางประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา เนื่องจากจะได้เสียภาษีน้อยลง

อุตสาหกรรมเครื่องประดับอัญมณีมียอดขายสูงสุด และในปี 2557 คาดมีการเติบโตขึ้นถึง 6% อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเติบโต 5% อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าเติบโต 2% สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2557 ต่อไปการส่งออกจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 7-8% เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อเป็นค่อยไป ซึ่งคาดว่าน่าจะมีคำสั่งซื้อมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าประเภทต้นน้ำปลายน้ำและกลางน้ำ เช่น ผ้าผืนและเส้นใย ให้กับประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน สำหรับเครื่องนุ่งห่มได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มจากสหรัฐฯและสภาพยุโรป แต่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ  

ปี 2558 หลังรวมตัว AEC ภูมิภาคไทยจะมีความพร้อมสูงขึ้น และอุตสาหกรรมแฟชั่นจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยพัฒนา SME มากขึ้น ในแบรนด์ไหนที่ผู้คนไม่รู้จัก ทางเราก็จะทำให้กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทางเราจะนำให้ประสบความสำเร็จให้ได้ 3 ปีซ้อน  เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน นางอรรชกา กล่าวทิ้งท้าย