ปี’57 ภาคธุรกิจมุ่งเจาะกลุ่ม CLMV


กลุ่มประเทศ CLMV เป็นตลาดที่ผู้ประกอบการมีโอกาสสูงในการเจาะตลาดผู้บริโภค เนื่องจากยังมีแนวโน้มความต้องการสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของความเป็นเมืองอีกมาก และผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ให้การตอบรับที่ดีต่อสินค้าไทย

ด้วยภาวะกำลังซื้อในประเทศที่คงจะยังอยู่ในทิศทางอ่อนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปี 2557 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การให้ความสำคัญมากขึ้นกับตลาดส่งออก น่าจะเป็นทางเลือกสำหรับภาคธุรกิจที่ค่อนข้างมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะในตลาดที่กำลังซื้อมีแนวโน้มฟื้นตัวและมีการตอบรับที่ดีต่อสินค้าไทย ซึ่งกลยุทธ์อาเซียน (AEC) เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกนำมาปรับใช้ทั้งเพื่อประคองธุรกิจจากสถานการณ์เฉพาะหน้า และเพื่อวางแผนรุกตลาดผ่านการค้าและการลงทุนในระยะกลางถึงยาวต่อไป 

ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจที่ผลิตสินค้าจำหน่ายทั้งตลาดในและต่างประเทศ ควรพิจารณาปรับสัดส่วนการผลิตโดยเพิ่มน้ำหนักให้กับตลาดส่งออกมากขึ้น ซึ่งในหลายธุรกิจก็ได้มีการวางแผนและดำเนินการไปบ้างแล้ว อาทิ ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ผู้ประกอบการที่เน้นผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลักอยู่แล้ว อาจขยายการส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังตลาดที่มีศักยภาพอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในตลาดที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว/ขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ตลาดที่ผู้ส่งออกสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าผ่านความตกลงระหว่างประเทศต่างๆ รวมไปถึงตลาดที่ให้การยอมรับในคุณภาพของสินค้าไทย ได้แก่ ตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน (โดยเฉพาะกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม หรือ CLMV)

ทั้งนี้ การประคองธุรกิจท่ามกลางปัจจัยลบเฉพาะหน้าในปัจจุบันนั้น การเพิ่มสัดส่วนตลาดส่งออกซึ่งเน้นไปที่ตลาด AEC โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV นับว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ยังมีแนวโน้มความต้องการสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวของความเป็นเมือง อีกทั้งผู้บริโภคในตลาดดังกล่าวส่วนใหญ่ก็ให้การตอบรับที่ดีต่อสินค้าไทย

 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2557 การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ยังสามารถรักษาการเติบโตได้ดี โดยมีมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น 3,181.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 10.9 (YoY) ซึ่งหากมองไปในระยะข้างหน้า การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าจะยังเติบโตไปได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าของไทยได้รับความนิยมค่อนข้างสูง ทั้งในเรื่องคุณภาพและรสนิยมการบริโภคที่ใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบไทยควรเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดเมียนมาร์และกัมพูชา ซึ่งเป็นสองตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง จากจำนวนผู้บริโภคในตลาดที่มีจำนวนมากและกำลังซื้อที่เริ่มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

สินค้าที่มีศักยภาพเข้าไปเจาะตลาด น่าจะอยู่ในส่วนของสินค้าที่เข้าไปสนับสนุนการค้าและลงทุนภายในประเทศ รวมไปถึงสินค้าที่ตอบโจทย์การขยายความเป็นเมือง อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง (ปูนซีเมนต์/ ผลิตภัณฑ์เหล็ก) เคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นอย่าง อาหาร/เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

สินค้าที่ได้กล่าวมาบางส่วนผู้ประกอบการไทยอาจจะเข้าไปทำตลาดอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องเน้นความสำคัญไปที่กลยุทธ์ในการจับตลาดผู้บริโภค คือ การผลิตสินค้าที่เจาะผู้บริโภค 2 กลุ่ม เช่น 1)กลุ่มตลาดบน (กลุ่มผู้มีรายได้สูง/ นักธุรกิจ/ นักท่องเที่ยว/ ข้าราชการ) เน้นสินค้าที่มีคุณภาพสูง มีการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้ในหมู่ผู้บริโภค และ 2)กลุ่มตลาดปานกลาง-ล่าง (กลุ่มผู้ใช้แรงงาน/ นักศึกษา/ ประชาชนทั่วไป) เน้นสินค้าที่มีคุณภาพปานกลาง แต่กำหนดระดับราคาที่เหมาะสม เพื่อเจาะกำลังซื้อผู้มีรายได้ไม่สูงมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีปริมาณความถี่ในการซื้อสูง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การที่จะเพิ่มน้ำหนักในตลาดส่งออกและสามารถแข่งขันได้นั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องชูจุดเด่นด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิตของสินค้าที่สอดคล้องกับระดับราคา การส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลา การใช้กลยุทธ์การเข้าถึงสินค้าและการวางตำแหน่งทางการตลาดให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตลอดจนคำนึงถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงในด้านต่างๆ อย่างถี่ถ้วน อาทิ ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงด้านเครดิตการค้าและคู่สัญญา เป็นต้น

 

การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ … รองรับแผนธุรกิจในระยะกลางถึงยาว

นอกเหนือจากการเบนเข็มสู่ตลาดส่งออกซึ่งเป็นกลยุทธ์เพื่อรับมือกับโจทย์ที่ท้าทายเฉพาะหน้าในประเทศแล้ว การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะก่อนการเปิดเสรี AEC ในปี 2558 ถือเป็นการวางแผนธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ซึ่งจำเป็นต้องมีความพร้อมในทุกด้านและใช้เวลาเตรียมการพอสมควร ทั้งนี้ ภาคธุรกิจไทยอาจพิจารณาขยายกำลังการผลิตเพื่อรุกตลาด AEC ที่ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพควรพิจารณาการขยายฐานการผลิต/การลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ภายใต้รูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสมและรัดกุม เพื่อสร้างโอกาสและความแข็งแกร่งทางธุรกิจให้มีมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาฐานการผลิตแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นหลัก

โดยกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจในการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ ได้แก่ ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า/เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น เนื่องจากในกลุ่ม CLMV ยังมีข้อได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ จำนวนแรงงานที่มีอยู่มาก และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายหลังจากการเปิดเสรี AEC อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการแสวงหาคู่ค้า/พันธมิตรทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ ประเด็นด้านกฎระเบียบและเกณฑ์การลงทุนต่างๆ รวมถึงวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุนไม่ควรละเลย ทั้งนี้ก็เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ประกอบการไทยได้ทยอยออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยสาขาที่ไปลงทุน ส่วนใหญ่คือ การผลิต (อาทิ การผลิตอาหาร การผลิตคอมพิวเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์) การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน การขายส่งและขายปลีก กิจกรรมทางการเงินและประกันภัย ขณะที่ อาเซียน นับเป็นจุดหมายปลายทางอันดับแรกของธุรกิจไทยตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับผู้ประกอบการที่มีข้อจำกัดทั้งการเพิ่มสัดส่วนตลาดส่งออก รวมไปถึงการขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กในบางประเภทธุรกิจ แนวทางรับมือกับสภาวะที่กำลังซื้อในประเทศอ่อนแรงนั้น ที่สำคัญจะยังคงอยู่ที่การบริหารจัดการเพื่อดูแลประสิทธิภาพการผลิต/การดำเนินงานเป็นหลัก โดยอาจครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ได้แก่ การลดต้นทุนการดำเนินงาน การลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต (Zero Waste) การปรับปรุงเครื่องมือเครื่องจักร การพัฒนาฝีมือแรงงานให้สามารถทำงานได้หลากหลายมากขึ้น (Multi-skilled) การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพสินค้า ตลอดจนการเลือกใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพและมีผลในการกระตุ้นการซื้อสินค้าของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายภายใต้ต้นทุนที่ไม่สูง อาทิ การจัดอีเว็นต์ที่เฉพาะเจาะจง การใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหลายช่องทางเพื่อเพิ่มการเข้าถึงและสร้างความตระหนักในสินค้าต่อผู้บริโภค เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการพิจารณาแนวทางการสร้างเครือข่ายหรือพันธมิตรเพื่อเสริมศักยภาพทางธุรกิจด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของสายการผลิตที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจมีความพร้อมที่จะรับมือกับสภาวะการแข่งขันในยามที่สภาพเศรษฐกิจกลับมาเอื้ออำนวยอีกครั้งในอนาคต