เมียนมาร์กำลังเป็นประเทศเนื้อหอมที่น่าลงทุนมากที่สุดใน AEC ทั้งนี้เป็นผลมาจากการเปิดประเทศไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา และการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษใหม่ 3 แห่งร่างกฎหมายเปิดช่องให้ต่างชาติได้สิทธิพิเศษทางภาษี 50 % เป็นเวลา 5 ปี
จากการสัมมนาในหัวข้อ “Embracing Myanmar’s Boundless Prosperity in the New Economic Era” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการค้าและการลงทุนให้กับนักธุรกิจที่สนใจจะลงทุนและประกอบกิจการในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)จัดขึ้นได้ ได้กล่าวว่า ผลจากเปิดประเทศเป็นประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งที่ผ่านมา ได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก หลายประเทศสนใจจะเข้ามาลงทุนเพราะเห็นว่าประเทศเมียนมาร์มีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ สามารถพัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ได้ นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีขนาดของประชากรกว่า 60 ล้านคน ทำให้มีอำนาจการบริโภคที่สูง ไม่นับรวมถึงกำลังแรงงานขนาดใหญ่ที่ต้นทุนต่ำ เอื้อต่อการผลิตในระบบอุตสาหกรรม
ฯพณฯ พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทย ณ นครย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กล่าวว่าพม่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจนทำให้ อัตรการเติบโต จีดีพีของเมียนมาร์ในปี 2556 ที่ผ่านมาเท่ากับ 7.5 % และคาดว่าจะเติบโตเป็น 8 % ในปีนี้ เมียนมาร์ต้องการสร้างเศรษฐกิจให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้ ตลอดจนรองรับการเปิดประเทศไปสู่ AEC จึงได้มีการปรับปรุงข้อจำกัดต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการลงทุนอาทิ ข้อจำกัดด้านภาษี กฎหมาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แหล่งพลังงานไฟฟ้า
นายชาร์ลส์ ชไนเดอร์ ผู้แทนประจำสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลเมียนมาร์ได้สร้างบรรยากาศการลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติด้วยการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ตลอดจนลดขั้นตอนทางเอกสารต่างๆ ให้เอื้อกับการลงทุน
นายทาคาชิ ยานาอิ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ แปน- เมียนม่าร์ กล่าวว่า หากนักลงทุนต่างชาติต้องการมาลงทุนในเมียนมาร์ตามกฎหมายต้องหาผู้ร่วมทุนท้องถิ่นประมาณ 20 % ร่วมทุน แต่ปัจจุบันนี้เมียนมาร์ได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาใหม่ 3 เขตประกอบด้วย Dawei, Thilawa และ Kyaukpyu สามารถลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ 100 % และได้รับสิทธิยกเว้นทางภาษีใน 5 ปีแรก หลังจากนั้นจะได้รับสิทธิส่วนลดทางภาษีอีก 50 %
เมียนมาร์ได้เตรียมโครงสร้างด้านพื้นฐานต่างๆ ให้กับนักลงทุนอาทิ ลงทุนก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 แห่ง กำลังการผลิตรวมกันกว่า 800 เมกกะวัตต์ พัฒนาระบบประปา การสื่อสาร ตลอดจนถนนหนทางต่างๆ เพื่อรองรับการขนส่งจากภูมิภาคต่างๆ เข้าสู่โซนเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีแผนที่จะทำท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่ทวาย
นางศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่าไทยเป็นประเทศต้นๆ ให้การสนับสนุนเมียนมาร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีผลประโยชน์ร่วมกันด้านก๊าชธรรมชาติและน้ำมันปิโตรเคมี นักลงทุนไทยให้ความสนใจไปลงทุนด้านการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ
ความต้องการและโอกาสการลงทุนในเมียนมาร์แบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ประกอบด้วย หมวดแรกโครงสร้างการอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานของประเทศ เพื่อให้เมียนมาร์สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ระบบการเกษตรสมัยใหม่ หมวดที่สองการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่นการลงทุนด้านพลังงาน ปิโตรเลียม แก๊ส สร้างโรงไฟฟ้า ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หมวดที่สาม การผลิตที่รองรับความต้องการการบริโภคขนาดใหญ่ของประเทศที่กำลังจะเติบโตขึ้นในอนาคต ตัวอย่างเช่น สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป อุตสาหกรรมความงามและสุขภาพ ตลอดจนงานบริการอื่นๆ ที่จะตามมา
การเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศของเมียนมาร์ กำลังอยู่ในความสนใจของหลายประเทศ โดยมีจีนเป็นผู้ลงทุนมากเป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นไทย