เผยส่งออกยานยนต์ไตรมาสแรกโต3% โกยเงินเฉียด 8 พันล้านเหรียญฯ วาดแผนไตรมาส 2 อุตฯผลิตรถราว 5 แสนคัน เชื่อทั้งปีทำได้ตามเป้า ชี้ลดปัญหาโลจิสติกส์-เดินตามกลยุทธ์ส่งออกเพิ่ม
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยตั้งเป้าหมายคาดการณ์การส่งออกสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้น 10% หรือมีมูลค่า 33,766 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แบ่งเป็นสินค้ายานยนต์ 20,582 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(เพิ่มขึ้น 10%) กับ สินค้าชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์ 13,184 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(เพิ่มขึ้น 10%) โดยในช่วงไตรมาสแรก(ม.ค.-มี.ค.)57 ส่งออกยานยนต์ มีมูลค่า 4,730 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ขยายตัว 0.46% จากช่วงเดียวกันของปี 56 ขณะที่ยอดการส่งออกรถยนต์รวม 287,795 คัน เท่ากับ56% ของยอดการผลิตทั้งหมด หรือ ขยายตัว 0.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ 56
การผลิตรถยนต์โดยรวมในไตรมาสแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 517,492 คัน ลดลง 28.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณการผลิตรถยนต์ในไตรมาสสอง(เม.ย. – มิ.ย.)57 ประมาณ 499,900 คัน โดยมีเป้าหมายการผลิตทั้งปี 2557 เท่ากับ 2.40 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1.20 ล้านคัน และผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ 1.20 ล้านคัน
ด้านการส่งออกสินค้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ในไตรมาสแรกขยายตัว 7% หรือ มีมูลค่า 3,143 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ในปีนี้จะมีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 10 โดยชิ้นส่วนของรถยนต์จะเริ่มกระเตื้องขึ้นเนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ประมาณการว่าจะมีการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ 40% และผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 60%
“ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าคู่แข่งด้วย เนื่องจากอัตราค่าแรงงานของคู่แข่งถูกกว่าไทย แม้ว่าไทยยังคงมีฐานการผลิตรถปิ๊คอัพและรถยนต์ประหยัดพลังงานที่มีศักยภาพ ประกอบกับรัฐบาลให้การสนับสนุนผ่านรถอีโก้คาร์ เฟส2” นางนันทวัลย์ กล่าว
สำหรับกลยุทธ์ผลักดันการค้าสินค้ากลุ่มนี้ ภาครัฐยังคงส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้า และเข้าร่วมกิจกรรมคณะผู้แทนการค้า ทั้งที่จัดโดยกรมฯ และการเข้าโครงการเอสเอ็มอี โปร-แอ็คทีฟ การสนับสนุนการพัฒนาและวิจัยการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ที่เป็นรับจ้างผลิต(โออีเอ็ม) เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ในอนาคต ส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ (Supply Chain Management) พัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมยานยนต์ โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและทักษะด้านการออกแบบ
กรมฯเห็นว่า หากบริหารจัดการอุปสรรคในอุตสาหกรรมยานยนต์ในเรื่องการเคลื่อนย้ายสินค้าอันตรายเข้าไปในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งผู้ประกอบการต้องนำสินค้าไปฝากเก็บที่คลังสินค้าอันตราย ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคเหมือนกับสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ฯ คือ การปรับขึ้นค่าจ้างอัตราขั้นต่ำ การขาดแคลนแรงงานที่ต้องแข่งขันแย่งแรงงานกับอุตสาหกรรมอื่น และไม่มีศูนย์กระจายสินค้าในต่างประเทศ เป็นต้น จะสามารถลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้สูงขึ้น
ในภาพรวมสินค้ายานยนต์ตลาดหลัก ได้แก่ ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ส่วนตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวสูง อาทิ อิตาลี อิรัก คูเวต แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ สำหรับสินค้าชิ้นส่วนฯตลาดหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เป็นต้น ส่วนตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวสูง อาทิ สิงคโปร์ อียิปต์ เอกวาดอร์ จีน เยอรมนี สหราชอาณาจักร