เปิดเทอมปี 57 เงินสะพัด 23,900 ล้านบาท ผู้ปกครองใช้เงินระวังตัว


ค่าใช้จ่ายผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2557 จะมีเม็ดเงินสะพัดประมาณ 23,900 ล้านบาท ทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังคงมีการวางแผนการใช้จ่ายให้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจ “ค่าใช้จ่ายเปิดเทอมใหญ่ปี 2557 ของผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ” ในช่วงระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 400 คน ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้

 

ภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานของผู้ปกครองเมืองกรุงฯ ปี 2557 โดยรวม “ลดลง” : จากการสำรวจผู้ปกครองในกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบุตรหลาน ดังนี้

 

ภาระค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น: ได้แก่ ค่าเทอม (ค่าเล่าเรียน) และค่ากิจกรรมพิเศษกับทางโรงเรียน อาทิ ค่ากิจกรรมพิเศษหลังเลิกเรียน (เช่น เรียนพิเศษในโรงเรียน/ สอนเสริมทำการบ้าน ค่าเรียนดนตรีหรือกีฬา เป็นต้น) กิจกรรมระหว่างปีการศึกษา (เช่น ซัมเมอร์แคมป์) ฯลฯ ภาระค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มลดลง: ได้แก่ ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน รวมถึงการเรียนกวดวิชาและเสริมทักษะต่างๆ

 

จะเห็นได้ว่า จากปัญหาทางด้านกำลังซื้อของผู้ปกครองที่ยังคงชะลอตัวในปัจจุบัน ทำให้ผู้ปกครองจำเป็นต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น แต่เนื่องจากปีนี้ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเทอมและค่ากิจกรรมพิเศษกับทางโรงเรียนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องจ่าย ส่งผลให้ผู้ปกครองพยายามประคับประคองและจัดสรรงบประมาณให้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว หรือมีการปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วน อาทิ การลดค่าใช้จ่ายในส่วนของชุดนักเรียนลงเหลือเพียง 1-2 ชุดต่อคน จากเดิมที่อาจจะซื้อ 3-4 ชุด เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การจัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบรรดาผู้ปกครองในกรุงเทพฯ อย่างระมัดระวังในปีนี้ น่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดประมาณ 23,900 ล้านบาท ทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่า 24,000 ล้านบาท

 

ปี’ 57 ผู้ปกครองเมืองกรุงฯ ส่วนใหญ่เตรียมพร้อมจัดสรรงบประมาณไว้เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ในขณะที่บางส่วนยอมรับว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการเมืองกดดันต่อการวางแผนใช้จ่าย แม้ว่าในปีนี้ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะมีรายจ่ายและค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การศึกษาถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบุตรหลาน ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา จึงเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอในแต่ละปี 

 

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพบว่า ผู้ปกครองเมืองกรุงฯ บางส่วน ระบุว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณสำหรับการศึกษาของบุตรหลาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยด้านราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น (ร้อยละ 42) รองลงมาคือ ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น (ร้อยละ 22) และเงินอุดหนุนจากภาครัฐที่ได้รับลดลง (ร้อยละ 15) ตามลำดับ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้ปกครองที่ลดลง และยอมรับว่ากดดันต่อการวางแผนใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีนี้มากพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองที่มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ หรือกลุ่มผู้ปกครองที่มีภาระหนี้สินที่ต้องชำระจากหนี้ที่ได้ก่อไว้ในช่วงก่อนหน้านี้

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว จากปัจจัยทางด้านกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง และกดดันการใช้จ่ายของผู้ปกครองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ส่งผลให้การใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปี 2557 นี้ บรรดาผู้ปกครองในกรุงเทพฯ ยังคงมีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ดี เนื่องจากการศึกษาถือได้ว่าเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตที่มั่นคงของบุตรหลาน ดังนั้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงพยายามประคับประคองงบประมาณให้อยู่ในกรอบที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่า ช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2557 การใช้จ่ายของผู้ปกครองในกรุงเทพฯ น่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดประมาณ 23,900 ล้านบาท ทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แบ่งเป็น ค่าเทอม 9,000 ล้านบาท ค่าเรียนกวดวิชา/เสริมทักษะต่างๆ 7,000 ล้านบาท ค่ากิจกรรมพิเศษกับทางโรงเรียน (อาทิ เรียนพิเศษ/ซัมเมอร์แคมป์) 4,600 ล้านบาท ค่าชุดนักเรียน/ อุปกรณ์การเรียน 3,000 ล้านบาท และอื่นๆ (ค่ารถรับ-ส่งโรงเรียน ค่าชุดกีฬา) 300 ล้านบาท