ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและความล่าช้าในการฟื้นตัวของการส่งออก ส่งผลกดดันให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2557 หดตัวลงถึงร้อยละ 2.1 จากไตรมาสก่อนหน้า และหดตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาส 1/2557 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สะท้อนว่า โมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยกำลังอ่อนแรงลงเกือบทุกด้าน เนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ เริ่มกระจายผลกระทบเป็นวงกว้างออกไป โดยจีดีพีไตรมาสแรกหดตัวลงทั้งการเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ไตรมาส 4/2556) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 1/2556)จีดีพีไทยประจำไตรมาส 1/2557 หดตัวร้อยละ 2.1 สะท้อนผลกระทบที่ขยายวงกว้างออกไปจากปัญหาการเมือง
กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 อยู่ในสภาวะที่ไร้แรงขับเคลื่อนโดยสิ้นเชิง ภายหลังจากความตึงเครียดทางการเมืองที่ลากยาวได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชน สร้างเงื่อนไขที่จำกัดมากขึ้นต่อกรอบการใช้จ่ายของรัฐบาล รวมถึงกดดันบรรยากาศในภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ สินค้าส่งออกรายการสำคัญของไทย ยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างเต็มที่
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยติดลบในไตรมาสแรกท่ามกลางปมปัญหาการเมืองในประเทศ โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพีที่ปรับฤดูกาลประจำไตรมาส 1/2557 พลิกกลับมาหดตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีที่ร้อยละ 2.1 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ในขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เศรษฐกิจไทยหดตัวลงร้อยละ 0.6 ในไตรมาส 1/2557 จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 (YoY) ในไตรมาส 4/2556
กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 อยู่ในสภาวะที่ไร้แรงขับเคลื่อนโดยสิ้นเชิง การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจหดตัวลงต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน โดยการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 3.0 (YoY) และร้อยละ 7.3 (YoY) ในไตรมาส 1/2557 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 4.1 (YoY) และร้อยละ 13.2 (YoY) ในไตรมาส 4/2556 ตามลำดับ ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง ส่งผลทำให้ภาคเอกชนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทน เครื่องมือเครื่องจักร และการก่อสร้าง) เพราะแต่เดิมก็ต้องรับมือกับภาระหนี้สิน การชะลอตัวของกำลังซื้อ และความเพียงพอของสภาพคล่องอยู่ก่อนแล้ว
การใช้จ่ายของภาครัฐในส่วนของรายจ่ายประจำยังคงเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายลงทุนทรุดหนัก หลังจากที่ปมการเมืองที่ปราศจากข้อสรุปเป็นเวลานาน กลายเป็นเงื่อนไขที่จำกัดแนวทางการใช้จ่ายเม็ดเงินของรัฐบาลในการช่วยประคับประคองทิศทางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว ทั้งนี้ รายจ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 2.9 (YoY) ในไตรมาส 1/2557 สูงขึ้นเล็กน้อยจากที่ชะลอลงมาขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 (YoY) ในไตรมาส 4/2556 อย่างไรก็ตาม การลงทุนของภาครัฐหดตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 และเป็นอัตราการหดตัวแรงที่สุดในรอบ 13 ปีที่ร้อยละ 19.3 (YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 4.7 (YoY) ในไตรมาส 4/2556
การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ ยังคงเป็นแรงหนุนสำคัญของภาพรวมเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกยังขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 (YoY) แต่ด้วยแรงฉุดจากรายได้ในภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวร้อยละ 0.4 (YoY) กระนั้น เนื่องจากการนำเข้าสินค้าและบริการหดตัวในอัตราที่รุนแรงกว่า คือที่ร้อยละ 8.5 จึงเป็นผลให้การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิบันทึกมูลค่าการเกินดุลสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (นับตั้งแต่มีการรายงานตัวเลขจีดีพีรายไตรมาสในปี 2536) และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 28.8 (YoY) ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 25.6 (YoY) ในไตรมาส 4/2556 โดยการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิมีส่วนในการเพิ่มจีดีพีในไตรมาสแรกถึงร้อยละ 4.6 (Positive Contribution in Percentage Points) อย่างไรก็ดี ก็ไม่อาจชดเชยกับการลดลงของอุปสงค์ภายในประเทศ (ผลรวมของการบริโภคและการลงทุนทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ) และส่วนเปลี่ยนสินค้าคงเหลือ ที่มีส่วนลดทอนจีดีพีลงไปถึงร้อยละ 3.3 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ (Negative Contribution in Percentage Points)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์อัตราการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ที่ร้อยละ 5.0 ในกรณีพื้นฐาน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า จังหวะการฟื้นตัวของภาคการส่งออก น่าที่จะเริ่มทยอยปรากฏขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2/2557 โดยมีแรงหนุนจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน และทิศทางเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าน่าจะยังประคองภาพการขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่องตามสัญญาณที่บวกมากขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งทำให้จะต้องประเมินสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงประเด็นความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกบางรายการของไทยในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับประเด็นปมปัญหาการเมืองไทย เนื่องจากความขัดแย้งที่ลากยาวมานานกว่า 6 เดือนอาจเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2557 ซึ่งหากว่า ทางออกของปัญหาการเมืองสามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากเหตุการณ์ที่รุนแรงในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยมีโอกาสทยอยกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปีนี้ โดยที่ภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศไม่ทรุดตัวลงมากนัก
ณ ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557 ไว้ที่ร้อยละ 1.8 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 1.3-2.4) อย่างไรก็ตาม หาก 2 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ปัญหาทางการเมืองและทิศทางการส่งออกยังไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้นในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า ก็อาจจำเป็นต้องมีการทบทวนปรับลดประมาณการอีกครั้ง