ในปี 2557 สสว.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐองค์กรเอกชน และสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอีกจาก 13 หน่วยงานกลายเป็นความร่วมมือ 22 หน่วยงาน เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า “ตามภารกิจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการเป็นหน่วยงานการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมให้ SMEsไทยมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ สามารถเจริญเติบโตได้อย่างนั่งยืน และมีความพร้อมในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่ 1.กลุ่มพันธมิตรที่เป็นหน่วยงานด้านการเงินหรือสถาบันการเงิน 2. กลุ่มพันธมิตรที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารสารสนเทศ 3.กลุ่มพันธมิตรที่ให้บริการด้านการค้า การตลาด และอื่นๆ ในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมและรับประโยชน์จากกิจกรรมที่ได้ดำเนินร่วมกันจำนวน 1, 322 ราย” นางสาววิมลกานต์กล่าว
นอกจากการร่วมกิจการยังมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารระหว่างสมาชิกของหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กิจกรรมและบริการของทุกหน่วยงานสามารถเข้าถึง SMEs ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ผลจากความร่วมมือในปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดการขยายความร่วมมือไปยังองค์กรต่างๆ ในการสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพ SMEs ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยทำให้ SMEs ของไทยสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างเข้มแข็ง และพร้อมรับการแข่งขันเตรียมพร้อมสู่การเปิดตลาด AEC
นางสาววิมลกานต์กล่าวว่า “ในด้านวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อ 1. ประสานความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบกิจการของวิสาหกิจขนากลางและขนาดย่อม 2. ร่วมมือดำเนินกิจกรรมด้านจัดหาหัวข้อองค์ความรู้และการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนากลางและขนาดย่อม ให้คำปรึกษา ในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่างๆ 3. จัดหาสิทธิประโยชน์ต่างๆให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ หรือลดคอร์สในการดำเนินธุรกิจ
กิจกรรมข้างต้นที่หน่วยงานพันธมิตรผลักดันร่วมกันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ขยายศักยภาพธุรกิจ สร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีบทบาทเป็นรากฐานของเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน” นางสาววิมลกานต์กล่าวทิ้งท้าย
ดร.สมฤดี ศรีจรรยา กรรมการบริหารและประธานคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบ และประเมินผล สสว. กล่าวว่า “ความร่วมมือส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกับสถาบันการเงิน องค์กรเอกชนและหน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถือว่ามีความจำเป็นต่อการพัฒนาศักยภาพต่อผู้ประกอบการ SMEs ของไทยอย่างยิ่ง
เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และได้สร้างมูลค่า GDP ร้อยละ 37 รวมถึง4.21 ล้านล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการจ้างงานร้อยละ 80% ของแรงงานภาคเอกชนและ มีการจ้างแรงงานถึง11.7 ล้านคน ทั้งนี้การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครือข่ายในการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ SMEs” ดร.สมฤดีกล่าว
ด้านการสร้างองค์ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ทางด้านการจัดการองค์กร ด้านกานเงิน การตลาด การผลิตสารสนเทศ และด้านอื่นๆ เป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพและมีความสามารถในการแข่งขันให้ไปสู่ในระดับสากลถึงในปัจจุบันแม้สถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยสู้ดีก็ตาม
ดร.สมฤดีกล่าวว่า ทางสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs แน่นอน เพราะในสถานการณ์แบบนี้การเมืองไม่แน่นอน รัฐบาลทำงานได้ไม่เต็มที่ ต่างชาติก็ไม่ได้เข้ามาลงทุน ทางผู้ประกอบการ SMEs ยอดขายก็จะลดลง ซึ่งในภาวะเช่นนี้ทุกคนก็ต้องประหยัด SMEs จึงต้องหาลูกค้าใหม่อยู่เสมอ เพราะถ้าเป็นลูกค้าเดิม คือเราต้องใส่ใจลูกค้าให้มากขึ้น นึกถึงความต้องการของลูกค้า และ segment ลูกค้าให้มากขึ้น ว่าจะให้เป็นลูกค้าในกลุ่มไหนบ้าง เพราะถ้าเราไม่ได้ segment ลูกค้าให้ชัดเจนพอเกิดสภาวะเช่นนี้ก็จะทำให้ลูกค้าหายไป เราก็อาจจะล้มเหลวได้
ซึ่งทางมาตรการที่จะช่วยเหลือหรือผลักดัน SMEs ของทาง สสว.ก็ได้มีโครงการ หลายโครงการที่จะช่วยเหลือSMEs เช่นทางภาครัฐภาคเอกชน และทางด้านสื่อสาร คือเราจะร่วมมือกัน ในส่วนของผู้ประกอบการที่มีตลาดอยู่แล้วเช่น บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ที่มีตลาดอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการหาซัพพลายเพิ่ม ทาง สสว.ก็จะไปคัดสรรSMEs ที่มีสินค้าและบริการทีมีความต้องการของตลาด และอีกเรื่องคือการอบรม การร่วมมือกับหอการค้า การให้ความร่วมมือกับ SMEs การบ่มเพาะ ให้มีความรู้ความสามารถมากขึ้นเพื่อที่จะต่อสู้กับภาวะเศรฐกิจได้