คาดตลาดวัสดุก่อสร้างครึ่งหลังปี 2557 ฟื้นตัว


แนวโน้มของตลาดวัสดุก่อสร้างในปี 2557 อาจมีมูลค่ายอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงนัก เนื่องจากการเติบโตของยอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างขึ้นอยู่กับทิศทางของอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหลัก ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 กิจกรรมการก่อสร้างของทั้งภาครัฐและเอกชนมีทิศทางชะลอตัวลง จากสาเหตุดังนี้

การลงทุนในโครงการภาครัฐสะดุด จากปัญหาทางการเมือง ส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างชะลอลงในช่วงปลายปี 2556 จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ปี 2557 ที่ผ่านมา โครงการก่อสร้างของภาครัฐได้รับผลกระทบจากสภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลให้ขั้นตอนการเบิกจ่ายของงบลงทุนในแต่ละโครงการ โดยเฉพาะในโครงการใหม่ๆ ประสบปัญหาล่าช้า เนื่องจากรัฐบาลรักษาการที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีขอบเขตความรับผิดชอบในการอนุมัติโครงการต่างๆที่จำกัด และเมื่อพิจารณามูลค่าการก่อสร้างในส่วนของภาครัฐในไตรมาสแรกปีนี้ พบว่า หดตัวลงมากถึงร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อน (ซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.3)

ทั้งนี้ โครงการส่วนใหญ่ในปีนี้เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา เช่น การซ่อมแซมและปรับปรุงโครงข่ายถนน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (มีความก้าวหน้าในการก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2557 ที่ร้อยละ 49.93 และ 28.30 ตามลำดับ) ซึ่งในส่วนที่เหลือยังมีความจำเป็นต้องใช้วัสดุก่อสร้างสำหรับงานโยธา ส่วนขั้นตอนการก่อสร้าง (งานโยธา) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ใกล้จะแล้วเสร็จ คงเหลือแต่งานระบบเดินรถไฟฟ้า ซึ่งอาจมีความต้องการวัสดุก่อสร้างต่ำกว่า 2 โครงการแรก (สายสีเขียวและสายสีน้ำเงิน) นอกจากนี้ โครงการภาครัฐอื่นๆที่จะสามารถดำเนินการได้ในปี 2557 อาจอยู่ในส่วนของการปรับปรุงอาคารภายในหน่วยงานต่างๆและการพัฒนาโครงข่ายถนนและการขยายช่องจราจรทั่วประเทศ ซึ่งมีการใช้เงินลงทุนส่วนที่คงค้างในงบประมาณปกติประจำปี 2557

แต่ทว่า หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถผลักดันให้โครงการขนาดใหญ่เริ่มมีกิจกรรมการก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลัง 2557 นี้ อาจมีผลต่อเนื่องให้ความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้มีโครงการของรัฐส่วนหนึ่งที่มีความพร้อมสำหรับขั้นตอนการประมูลเพื่อจัดหาผู้รับเหมา เช่นโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต

  • การลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนชะลอการลงทุนในครึ่งปีแรก เพราะพิษเศรษฐกิจและประเด็นทางการเมือง

การลงทุนในการก่อสร้างของภาคเอกชนในช่วงต้นปี 2557 ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้นโยบายการลงทุนของภาครัฐที่จะเอื้อหนุนต่อภาคเอกชนไม่มีความชัดเจน บวกกับสภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากการขาดปัจจัยบวกและยังเผชิญกับปัจจัยฉุดรั้งอีก เช่น กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวและค่าครองชีพสูงขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย และการลงทุนที่ซบเซาลง นอกจากนี้ หลายครัวเรือนยังมีภาระหนี้ในสัดส่วนที่สูงและบางส่วนมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง จึงทำให้กลุ่มผู้บริโภคส่วนหนึ่งตัดสินใจชะลอการลงทุนหรือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ออกไป โดยมูลค่าการก่อสร้างในไตรมาสแรกปี 2557 (ณ ราคาปัจจุบัน) หดตัวลงร้อยละ 5.7 เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2556 (ซึ่งขยายตัวร้อยละ 13.4)

 

สำหรับภาพรวมการก่อสร้างของภาคเอกชนครึ่งหลังของปี 2557 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพิ่มขึ้น หลังจากที่คสช.ออกนโยบายการลงทุนที่มีความชัดเจนมากขึ้นและพยายามผลักดันการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ กิจกรรมการก่อสร้างของภาคเอกชนน่าจะมีแรงขับเคลื่อนจากโครงการเดิมที่ยังคงลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มพาณิชยกรรมทั้งในหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง ซึ่งเห็นได้จากการขยายสาขาของห้างสรรพสินค้าและร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) ทั้งในเขตพื้นที่ชั้นในและชั้นนอกของกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

ตลาดวัสดุก่อสร้างของไทย…หวังแรงขับเคลื่อนจากตลาดซ่อมแซมและตกแต่ง และการเติบโตของเมืองในจังหวัดที่มีกิจกรรมการค้าชายแดน

แม้ว่าการขยายตัวของตลาดวัสดุก่อสร้างของไทยในปี 2557 จะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการก่อสร้างที่เติบโตในอัตราชะลอลง แต่ตลาดวัสดุก่อสร้างยังมีแรงขับเคลื่อนจากกิจกรรม ดังนี้

 

C  กลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างเพื่อใช้ในกิจกรรมซ่อมแซมและตกแต่งยังเติบโต

โดยปกติ ตลาดซ่อมแซมและตกแต่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าตลาดวัสดุก่อสร้าง

ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2557 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความเสียหายต่ออาคาร/       สิ่งปลูกสร้างหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวทางภาคเหนือของไทย การเกิดพายุฤดูร้อนที่มีผลให้เกิดลมกระโชกแรงและฝนฟ้าคะนอง และภาวะน้ำท่วมฉับพลันในบางพื้นที่ เป็นต้น

และเมื่อพิจารณาทิศทางการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างสำหรับกิจกรรมซ่อมแซมและตกแต่งในปี 2557 พบว่ายังมีสัญญาณที่จะขยายตัว แม้จะเติบโตไม่สูงนัก โดยสะท้อนผ่านปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ เช่น คอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็ม และพื้นสำเร็จรูป (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) ซึ่งพบว่าในช่วง 4 เดือนแรกปี 2557 ปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์และคอนกรีตผสมเสร็จขยายตัวจากช่วงเดียวกันปี 2556 ที่ร้อยละ 1.8 และ 9.8 ตามลำดับ

C  ร้านค้าวัสดุก่อสร้างในจังหวัดชายแดนคึกคัก เพราะได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเมืองในจังหวัดชายแดนไทยและในกลุ่มประเทศ CLM ซึ่งทำให้เกิดความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้าง

จากประเด็นการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ใกล้จะถึงในปี 2558 มีผลกระตุ้นให้ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกลุ่มประเทศ CLM (กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์) เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและ   สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆภายในประเทศของตน เช่น โครงข่ายถนน ระบบสาธารณูปโภค โรมแรม และที่อยู่อาศัย เป็นต้น เพื่อรองรับกับการขยายตัวของกิจกรรมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ขณะที่สินค้าวัสดุก่อสร้างภายในกลุ่มประเทศ CLM อาจมีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับใช้ในกิจกรรมการก่อสร้างในหลายโครงการที่จะลงทุนในช่วงเวลาที่ใกล้กัน อีกทั้งสิ่งปลูกสร้างบางประเภทที่กำลังขยายตัวอาจจำเป็นต้องใช้สินค้าประเภทตกแต่งมากขึ้น เช่น โรงแรม แต่ภายในกลุ่มประเทศ CLM ยังมีสินค้าไม่หลากหลาย

 

ด้วยเหตุนี้ ทำให้กลุ่มประเทศ CLM มีความต้องการซื้อสินค้าในหมวดวัสดุก่อสร้างจากไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งวัสดุก่อสร้างของไทยจัดเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะมีคุณภาพและมีความหลากหลายจนเป็นที่ยอมรับจากลูกค้าที่อยู่ในประเทศ CLM นอกจากนี้ ไทยยังมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากชายแดนของไทยอยู่ติดกับประเทศ CLM และยังมีเส้นทางคมนาคมที่อำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่งแล้ว

ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างในกลุ่มประเทศ CLM ที่มีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยอาจสะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้างที่สำคัญอย่างปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 พบว่า มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์จากไทยไปในกลุ่มประเทศ CLM สูงขึ้นถึงร้อยละ 31.8 ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.8 และเมื่อพิจารณาสถิติการค้าชายแดนของสินค้าวัสดุก่อสร้างที่สำคัญอย่าง วัสดุและอุปกรณ์ที่ทำจากผลิตภัณฑ์เหล็ก พบว่า มีมูลค่าการส่งออกผ่านการค้าชายแดนไปในเมียนมาร์และสปป.ลาวในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ปี 2557 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2556 ถึงร้อยละ 37.3

 

โดยปกติ การจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างจากไทยไปยังประเทศ CLM จะอยู่ในรูปของการส่งสินค้าออกไปล็อตใหญ่และเป็นการสั่งสินค้าโดยตรงจากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้ารายใหญ่ของไทย แต่  การจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างบางส่วนในบริเวณแนวชายแดนของไทย ผู้ประกอบการที่ไม่เฉพาะแต่รายใหญ่ยังได้รับอานิงส์เพิ่มเติมจากอุปสงค์ต่อวัสดุก่อสร้างในประเทศเหล่านี้ เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคและผู้รับเหมาในประเทศเพื่อนบ้านส่วนหนึ่งเดินทางมาเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าในหมวดตกแต่ง ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการหลายรายจัดเตรียมบริการเสริมด้วยการรับจ้างขนส่งสินค้าข้ามประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้ามากขึ้น

 

และจากการเติบโตของการค้าชายแดนไทย ทำให้กิจกรรมการค้าและการลงทุนภายในจังหวัดชายแดนปรับตัวดีขึ้น จึงมีผลต่อเนื่องให้เกิดการขยายตัวของเมืองและก่อให้เกิดความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างสำหรับใช้ในกิจกรรมการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ โรงแรม และที่อยู่อาศัยต่างๆในพื้นที่มากขึ้นตามไป ด้วยเหตุนี้ ร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่ตั้งบริเวณชายแดนและพื้นที่ใกล้เคียงมีแนวโน้มคึกคักต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งการเติบโตของร้านค้าวัสดุก่อสร้างในปี 2556 สะท้อนได้จากการขยายสาขาใหม่ของร้านค้าวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ในปี 2556 เป็นการขยายสาขาในพื้นที่จังหวัดชายแดนและใกล้เคียง คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของจำนวนสาขาที่ตั้งใหม่ทั้งหมดในปี 2556

ด้วยเหตุจากปัจจัยบวกและลบข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่ายอดขายสินค้าวัสดุก่อสร้างภายในประเทศตลอดทั้งปี 2557 อาจมีมูลค่าประมาณ 580,000 – 592,200 ล้านบาท ขยายตัว  ร้อยละ 0.1 – 2.2 จากปี 2556 (ที่ประเมินไว้ว่าเติบโตร้อยละ 4.0)