หนุนเต็มที่ ! ออมสินจับมือ 6 หน่วยงาน อุ้ม SMEsเติบโตอย่างยั่งยืน


ออมสินจัดวงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท ร่วมกับ 6 หน่วยงานที่สนับสนุนด้าน SMEs  ช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 12,000 รายให้สามารถมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืนต่อไป

          ธนาคารออมสินร่วมมือกับ  6องค์กร ประกอบด้วย สํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) และ บริษัทไปรษณีย์ไทย จํากัด (ปณท.)ลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วย “โครงการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยให้เติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง และนางสาลินี วังตาล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือฯ

              ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองผู้อำนวยการธนาคารออมสินอาวุโส รักษาการแทนผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผยว่าสำหรับวัตถุประสงค์ในการบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้  เป็นการช่วยเหลือและสนับสนุน SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย  กลุ่มที่เริ่มสร้างธุรกิจ มีโอกาสที่จะเติบโตแต่ไม่มีแหล่งเงินทุนมาสนับสนุน    โดยความร่วมมือดังกล่าวจะมีระยะเวลา 5 ปี ซึ่งหากโครงการมีผลตอบรับที่ดี  อาจจะมีการต่อความร่วมมือกันต่อไป ซึ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่หน่วยงานพันธมิตรได้คัดกรองและพร้อมส่งให้ ธนาคารออมสินคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 12,000 ราย ซึ่งธนาคารออมสินได้จัดเตรียมวงเงินไว้รองรับในเบื้องต้นประมาณ 10,000 ล้านบาท

               ดร.ธัชพล ยังระบุอีกว่า ธนาคารออมสินจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนด้านเงินทุนอย่างครบวงจร ทั้งในรูปการให้สินเชื่อและเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ซึ่งในแบบหลังยังไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนักในประเทศไทย จะทำหน้าที่คัดกรองลูกค้าที่ผ่านกระบวนการนวัตกรรม การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาด และช่องทางการจัดจำหน่าย เข้าร่วมโครงการ

          นอกจากนี้ ทั้ง6 องค์กร  จะร่วมมือในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และให้คำปรึกษาการสนับสนุนที่จำเป็นทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริหารจัดการการตลาด ระบบการเงิน และระบบขนส่ง ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการให้ได้รับการพัฒนา สามารถเติบโตได้ต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไปด้วย  ดร.ธัชพลกล่าว             

              นอกจากหน่วยงานทั้ง 6 องค์กรแล้ว ยังมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าค้ำประกันสินเชื่อให้ โดยเงินงบประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท และทางรัฐบาลจะจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าในปีแรกให้ ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs ที่ขอกู้จากธนาคารแล้วหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ บสย.จะเข้ามาเป็นเป็นผู้ค้ำประกันให้

               ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงเวลา 6-7 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจ SMEs ประสบปัญหาด้านการเงินเป็นอย่างมาก ผลผลิตออกมาขายไม่ได้ หากไม่มีความช่วยเหลือด้านเงินทุนหมุนเวียน SMEs ไทยหลายๆรายต้องเกิดวิกฤตอย่างแน่นอน  จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ธนาคารออมสินและหน่วยงานภาครัฐได้ออกมาร่วมกันช่วยภาคธุรกิจ SMEs ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้