นักการตลาดข้างถนน อ.มานิต รัตนสุวรรณ


การเรียนรู้เรื่องการตลาด ยุคนี้ถือเป็นวิชาสมัยใหม่ที่สลับซับซ้อน ที่เรียนกันตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท ไปจนถึงปริญญาเอก มีศัพท์แสง ทฤษฎีมากมาย กลายเป็นยุทธศาสตร์ซับซ้อน ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ก็อาศัยเก็บมาจากตำราฝรั่ง ยิ่งบางคนถึงกับไปจบมาจากเมืองนอกเมืองนา กลายเป็นอาจารย์สอนการตลาดที่มีชื่อเสียง และบางคนก็ได้ทำงานในองค์กรใหญ่ มีตำแหน่งใหญ่โต จนคนเรียกว่าเป็นนักการตลาดขั้นเทพ หรือระดับเซียน

            อันที่จริงแล้ว  มีคนไทยนับล้านคนที่ทำมาหากินมาตั้งแต่หนุ่มสาว ไม่ได้ร่ำเรียนอะไร เอาตลาดเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต ใช้วิธีครูพักลักจำ เลียนแบบกันมา เห็นอะไรขายดีก็ไปเอาขายบ้าง ทำแบบง่าย แต่สุดท้ายก็กลายเป็นประสบความสำเร็จ หลายคนก็ถีบตัวขึ้นมาเป็นเจ้าของห้องแถวหลายคูหา มีสินค้าเต็มร้าน ขายดิบขายดี กลายเป็นเถ้าแก่ใหญ่ หลายคนไปไกลจนถึงขนาดเป็นเจ้าสัวมีเงินนับร้อยนับพันล้านก็มี ตัวอย่างเหล่านี้มีทั่วประเทศไทย

            เลยไม่รู้ว่าใครถูกใครผิดกันแน่ มาถึงวันนี้ ผมถึงวันเกษียณอายุแล้ว ผมกลับมานั่งทบทวนเส้นทางชีวิตของบรรดามืออาชีพในองค์กรใหญ่ ที่ผมผ่านมาหมดแล้ว เทียบกับบรรดาเพื่อนผมนักสู้ข้างถนน ไม่ได้ร่ำไม่ได้เรียนอะไรมาก แต่ค้าขายเก่ง และในที่สุดก็กลายเป็นมหาเศรษฐีมีเงินเก็บมากกว่าบรรดามืออาชีพหรือคนที่ใครเรียกว่า “เซียน” นี่แหละ

            ที่พูดมานี้ คือ ชีวิตจริงครับ ผมมีเพื่อนที่ตั้งแต่เด็ก ๆ ก็วิ่งเล่นกันในตลาด พอโตขึ้นก็แยกกันไป ผมมาเรียนกรุงเทพฯ สมัยก่อนถือว่าโก้มาก ปิดเทอมทีก็กลับบ้านที จากนั้นก็เรียนหนังสือ จบแล้วก็หางานทำ โชคดีได้อยู่ในองค์กรใหญ่ ๆ ผ่านประสบการณ์มาโชกโชน มีตำแหน่งมีหน้ามีตาที่เพื่อน ๆ บ้านนอกผมชื่นชมกันใหญ่ หารู้ไม่…

            ชีวิตจริงกลับปรากฏว่า บรรดาเพื่อนผมเด็กตลาดเหล่านี้และญาติผมหลายคน ก็ทำมาหากินอย่างเรียบ ๆ ดูเหมือนต่ำต้อยอยู่ในตลาดนั่นแหละ แต่ผมกลับไปทีไรก็เห็นเขาขยายกิจการ ร้านก็ใหญ่ขึ้น มีหน้ามีตา บางคนก็หันไปทำอาชีพอื่น เช่น เลี้ยงไก่ จากไม่กี่ตัวก็กลายเป็นนับพัน นับหมื่นตัว นับแสนตัว ทั้งที่บางคนไม่รู้ภาษาอังกฤษเลย แต่ก็แยกสายพันธ์เป็นเอบีซี รู้เรื่องอาหารไก่ การผสมอาหารเอง รู้สูตรเด็ด สุดท้ายกลายเป็นเจ้าสัวใหญ่ เจ้าของฟาร์มระดับเป็นแสน ๆ ตัว ส่งใข่มาขายที่กรุงเทพฯ แล้วอาชีพรุ่นพ่อก็ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

            ในขณะที่ผมทำงานองค์กรใหญ่มีชื่อเสียงดูท่าทางโก้หรูแต่กลับไม่ร่ำรวยแต่อย่างใด สู้บรรดานักการตลาดข้างถนน ทั้งเพื่อนและญาติผมเหล่านี้ สุดท้ายหลายคนกลับร่ำรวยอย่างเงียบ ๆ มีทรัพย์สินมากมาย ไม่ได้แพ้บรรดาลูกจ้างอาชีพที่ทำงานแทบล้มแทบตาย มีแต่ตำแหน่งโก้เอาไว้คุย อย่างดีก็แค่มีบ้านสวยในหมู่บ้านจัดสรรเหมือนคนอื่น มีรถขับ แต่ชีวิตก็ยังต้องต่อสู้ วิ่งสู้ฟัดทั้งชีวิต มิได้สบายแต่อย่างใด

หลายคนต้องเก็บเงินส่งลูกเต้าเรียนหนังสือ ขับรถรับส่งกันจนกว่าจะโต ทั้งพ่อทั้งแม่ก็ต้องออกไปช่วยกันทำงานทั้งสองคน พอเลี้ยงลูกได้ และพอถึงเวลาเกษียณอายุ บริษัทเขาก็เลิกจ้าง ต้องเลี้ยงตัวเองต่อไป ใครมีเงินเก็บมากหน่อยก็สบายหน่อย ใครมีเงินเก็บน้อยก็ลำบากหน่อย

            ครับ ทางสองแพร่ง ที่มาวัดกันที่ผลสุดท้ายตอนปลายทาง เพื่อนผมหลายคน ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในตลาดเล็ก ๆ ไม่ได้ย้ายไปไหน บางคนก็ไม่ร่ำรวยอะไร แต่ก็มีชีวิตสุขสบาย ต้นทุนต่ำ ค่าใช้จ่ายต่ำ อยู่ในบรรยากาศที่เขาคุ้นมาตั้งแต่เด็ก ชีวิตบ้านนอกที่อิสระ สิ่งแวดล้อมเต็มไปด้วยต้นไม้ อากาศดี ไม่เหมือนคนกรุงเทพฯ มีทั้งปัญหารถติด มลพิษ ปัญหาค่าครองชีพที่แพงแสนแพง หรือชีวิตที่เช้าต้องขับรถไปติดเป็นชั่วโมง หรือบางคนตอนนี้ก็ขับรถไม่ไหว ต้องให้ลูกเต้าช่วยขับให้

            ครับ ผมมาจากเด็กตลาด เติบโตมาในตลาด แต่สุดท้าย มามีอาชีพเป็นนักการตลาด นักการค้า นักธุรกิจในกรุงเทพฯ แต่สุดท้าย ก็ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิต เลิกเป็นลูกจ้างแล้วลงมือทำธุรกิจเอง เริ่มจากเอสเอ็มอีเล็ก ๆ เจ้าของธุรกิจเล็ก ๆ ทิ้งตำแหน่งโก้หรูในองค์กรใหญ่ไว้เบื้องหลัง ก็ต้องปากกัดตีนถีบเหมือนเพื่อน ๆ บ้านนอกของผมนั่นแหละ ต่างกันแค่ขนาดธุรกิจ โชคดีที่ผ่านประตูไฟที่สาหัสจนเกือบตาย ผ่านวิกฤต ๒๕๔๐ ที่พังทลายกันทั้งเมือง รอดมาได้ทุกวันนี้ ก็เป็นได้แค่เจ้าสัวน้อย ๆ พอเลี้ยงตัวได้ตอนปลายชีวิต นี่ถือว่าโชคดีแล้วนะ

            ครับ นี่เป็นแค่เกริ่นในคอลัมน์นี้ ซึ่งถือว่าเป็นการประเดิมต้นฉบับที่เขียนตามคำเชิญชวนของคุณณรินทร์ทิพย์ วิริยะบัณฑิตกุล ซีอีโอ บริษัทพีเพิ้ลมีเดีย เจ้าของสถานีโทรทัศน์ สมาร์ททีวี ทีวีชี้ช่องรวย และคุณพิสิษฐ์ ประกิจวรพงษ์ รองผู้อำนวยการสถานี ซึ่งจากนี่ไปผมก็จะพยายามเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับวงการตลาด วงการค้า เรื่องราวของผู้ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ผมชอบอ่านประวัติชีวิตคนเหล่านี้จนมีตู้หนังสือเต็มบ้านไปหมด

ที่สำคัญ คือ เรื่องราวความสำเร็จและล้มเหลวของตนเอง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถือเป็นวิทยาทานแก่คนรุ่นใหม่ เพราะมีความลับในวงการค้ามากมาย ถ้าใครไม่ได้ผ่านมาจริง ๆ ก็จะเล่าไม่ได้หรอกครับ เพราะมีทั้งน่าขบขัน น่ายินดี และน่าขายหน้า แต่เป็นเรื่องที่ต้องสู้กันด้วยจิตและวิญญาณ ที่ผมนำมาตั้งชื่อคอลัมน์นี้แหละครับ

สวัสดีครับ ผมจะลองพยายามเขียนทุกอาทิตย์นะครับ ถ้าไม่ไหวก็อาจจะสองอาทิตย์ ผมก็มาคุยกันที่นี่นะครับ

                                                 อ.มานิต รัตนสุวรรณ [email protected]