ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เผยทิศทางธุรกิจสินเชื่อช่วงครึ่งหลังปี 2557 เตรียมพร้อมขยายตลาดบุกฐานลูกค้า SMEs รายเล็ก เพิ่มเติมจากของเดิมที่เป็นขนาดกลางและขนาดใหญ่ พร้อมทั้งเปิดตัวธุรกิจสินเชื่อ 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อรองรับกลุ่ม SMEs ทั้ง 3 กลุ่ม คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่
ธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก เป็นกลุ่มที่มีความต้องการที่จะเติบโตเป็นอย่างมาก เพราะเป็นส่วนสำคัญในโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศซึ่งธนาคารต้องให้ความสำคัญ ส่งผลให้ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยวางโครงสร้างการบริหารใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยทางธนาคารจะใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายทั่วอาเซียนของกลุ่มซีไอเอ็มบีเข้าไปช่วยลูกค้า SMEs เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดไปเออีซี เนื่องจากการเกิดประชาคมอาเซียน ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะรายใหญ่เท่านั้น
ธนาคารได้ปรับโครงสร้างสายพาณิชย์ธนกิจ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ทางธนาคารได้แบ่งทีมเจ้าหน้าที่ไปดูแลตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ในขณะเดียวกัน จะมีทีมหลังบ้านที่แข็งแกร่งและเชี่ยวชาญเพื่อสนับสนุนทีมขายให้ดูงานเบื้องหน้า และมีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำงานในหลายๆด้าน ภายใต้โจทย์ ทำอย่างไรก็ได้ให้ขั้นตอนการทำงานและให้บริการแก่ลูกค้าสั้นมากที่สุด
ทางธนาคารจึงได้จัดทำสินเชื่อขึ้นมาอีก 2 ตัว เพื่อรองรับผู้ประกอบการ SMEs ทั้งสามกลุ่ม ได้แก่ สินเชื่อไวจัง เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียนธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัว ด้วยวงเงินหลากหลาย รู้ผลภายใน 7 วันทำการเมื่อยื่นเอกสารครบถ้วน วงเงินตั้งแต่ 300,000 – 20 ล้านบาท ซึ่งวงเงินจะประกอบด้วย วงเงินเกินบัญชี เงินกู้ระยะยาว วงเงินตั๋วสัญญาใช้เงิน หนังสือค้ำประกัน อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน การรับรองตัวแลกเงิน มีระยะเวลากู้ 10 ปี และมีหลักประกันที่รับพิจารณาครอบคลุมเงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล และอสังหาริมทรัพย์
และสำหรับสินเชื่อไวจัง เยอะจริง เป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุนและหมุนเวียน และมีวงเงินสูง 3 เท่าของหลักประกัน ซึ่งสามารถรู้ผลได้ใน 7 วันทำการ เหมือนกับสินเชื่อไวจัง แต่มีวงเงินสูงสุด 3 เท่า โดยใช้บสย. ค้ำประกันวงเงินส่วนที่เกินมาจากมูลค่าหลักประกัน และมีวงเงินในการกู้ตั้งแต่ 1.5 – 10 ล้านบาท สำหรับเงินกู้ระยะยาว โดยใช้ระยะเวลา 7 ปี และมีหลักประกันครอบคลุมเงินฝากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล หรือบัตรเงินฝาก
นายจิรัชยุติ์ อัมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า “เรามีการแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการเอาไว้เป็นส่วนๆ เพราะตอนนี้ทางธนาคารไม่ได้รุกลูกค้าเฉพาะแค่รายใหญ่เท่านั้น แต่เราจะรุกทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก เพราะว่าการเข้าหาลูกค้าในแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน รวมทั้งในเรื่องของผลตอบแทนและความเสี่ยงก็ไม่เหมือนกันด้วย ฉะนั้นแล้ว การที่เราจะลดความเสี่ยงของธนาคารได้นั้น เราต้องกระจายกลุ่มลูกค้าให้ได้ทุกส่วน นับเป็นเรื่องหลักที่เราจะมีการเปลี่ยนแปลงในปีนี้ และเราจะมีการดูแลลูกค้าเพื่อให้พัฒนาเข้าไปสู่อาเซียนได้ โดยที่เราจะดึงลูกค้าไปเข้าหาอาเซียน”
สำหรับปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ 1.1 ล้านบาท เพื่อให้สินเชื่อเติบโต 22 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ธนาคารได้จัดกลุ่มลูกค้า SMEs ตามวงเงินสินเชื่อ ลูกค้า SMEs ขนาดเล็ก ได้แก่ ลูกค้าวงเงินไม่ถึง 20 ล้านบาท SMEs ขนาดกลาง วงเงิน 20 – 60 ล้านบาท และ SMEs ขนาดใหญ่ วงเงิน 60 ล้านบาทขึ้นไป พร้อมทั้งดูแลลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 2 พันล้านบาท