นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าจากผลการศึกษาการจัดการทรัพยากรน้ำของไต้หวัน พบว่า ไต้หวัน เป็นดินแดนที่เป็นเกาะที่มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก 2.6 เท่า แต่จากที่มีประชากรถึง 23 ล้านคนและมีการใช้น้ำเฉลี่ยมากกว่า 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อคน ต่อปี มากกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 2 เท่า (1,385 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี) เนื่องจากภูมิประเทศและภูมิอากาศ รวมทั้งการพัฒนาแหล่งจัดเก็บน้ำที่เป็นข้อจำกัด ทำให้ไต้หวันมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต ทำให้จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง และมีความตื่นตัวในการรณรงค์การบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ ได้ตั้งหน่วยงาน Water Resources Agency : WRA ดูแลการบริหารจัดการและดำเนินมาตรการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้น้ำอย่างเหมาะสม สำหรับการใช้แนวทาง Water Footprint : WF ได้เริ่มดำเนินการกับภาคอุตสาหกรรม อาศัยการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการรับรองและตรวจสอบคุณภาพ อย่างบริษัท SGS แห่งไต้หวัน เข้าสนับสนุนการดำเนินการให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั้งอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ หรือแม้แต่บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าของไต้หวัน ให้ได้มีการจัดทำแผนและข้อมูลการบริหารจัดการน้ำตามแนวทาง WF และบริษัท SGS แห่งไต้หวัน ได้ให้การรับรองผู้ประกอบการตามคู่มือการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งประยุกต์จากคู่มือการดำเนินการของ ISO ไปแล้วกว่า 30 ราย แม้ว่า ISO ยังไม่ประกาศใช้ ISO 14046 ก็ตาม ทั้งนี้คาดว่า ISO จะบังคับใช้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 เมื่อถึงเวลานั้นผู้ประกอบการของไต้หวันหลายรายจะมีความพร้อมในการขอการรับรองในทันที นอกจากนี้ WRA ให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาและการปลูกจิตสำนึกในการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าของเด็กและเยาวชน โดยได้มีการพัฒนาแอพลิเคชั่นในมือถือที่เป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ให้กับเด็กเยาวชนและประชาชนสามารถโหลดไปศึกษาการใช้น้ำในกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง และมีการต่อยอดให้กับสถานศึกษา หน่วยงานต่างๆ ได้หันมาให้ความสำคัญและลงมือดำเนินการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ประกาศ เกียรติคุณกับองค์กรที่ใช้น้ำคุ้มค่าอีกด้วย
ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า จากการที่ไทยถูกจัดเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่ใช้น้ำมาก (2,223 ลูกบาศก์เมตร ต่อคนต่อปี) โดยน้ำที่นำไปใช้ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก แม้ว่าปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำในประเทศไทยจะต่างจากไต้หวัน แต่ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่สามารถใช้ได้จริง ที่ส่งผลให้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคตอันใกล้ ต้องดำเนินการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง จากการที่ สศอ. ได้ร่วมกับสถาบันอาหาร ดำเนินโครงการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนด้วย WF ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก โดยจะประเมินค่าอ้างอิง WF ในกลุ่มอาหารที่สำคัญของอุตสาหกรรมอาหารไทย ซึ่งจากการที่ได้เข้าให้การปรึกษาและประเมินการใช้น้ำเบื้องต้นของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า ผู้ประกอบการโดยรวมมีการบริหารจัดการน้ำทั้งน้ำเพื่อการผลิตและน้ำเสียจากกระบวนการผลิตได้ดีระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ยังมีช่องว่างในการบริหารจัดการน้ำของผู้ประกอบการในหลายราย อันเกิดจากกระบวนการผลิตที่ต้องใช้น้ำตามสภาพการผลิต เช่น การชะล้างเพื่อเตรียมวัตถุดิบ การทำความสะอาดเครื่องจักรอุปกรณ์ การขาดเครื่องมือวัดปริมาณการใช้น้ำ ความไม่สม่ำเสมอของปริมาณน้ำ และสภาพเครื่องจักรในแต่ละแห่ง ซึ่งต้องนำมาประเมินและเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงให้กับผู้ประกอบการต่อไป โดยเน้นให้ผู้ประกอบการสามารถใช้แนวทาง WF ไปประยุกต์ใช้ประเมินปริมาณการใช้น้ำ และจัดทำแนวทางการใช้น้ำในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จะสามารถระบุค่า WF บนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถสื่อสารไปยังผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศว่าสินค้าของบริษัทมีการใช้น้ำมากน้อยเพียงไร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต และรองรับมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคตได้ในเรื่องฉลากแสดงร่องรอยการใช้น้ำหรือ WF อันจะนำมาสู่การยอมรับและส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารในที่สุด