ธุรกิจแฟรนไชส์ปี’57: คาดยังโตต่อเนื่อง


ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปราะบางในปีนี้ ประกอบกับการแข่งขันทางธุรกิจที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้โอกาสที่จะเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีรูปแบบธุรกิจที่ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่วงจรธุรกิจ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การดำเนินธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์ น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากการเข้าสู่ธุรกิจนั้นทำได้ไม่ยากนัก เพราะบริษัทผู้ขายแฟรนไชส์ได้มีการวางระบบต่างๆ เพื่อจะบุกเบิกตลาดไว้พอสมควรแล้ว โดยมีประเด็นทางธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับในปีนี้ ดังต่อไปนี้

 

ธุรกิจแฟรนไชส์ปี’ 57: คาดมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 260,000 ล้านบาท

“ธุรกิจแฟรนไชส์” จัดเป็นหนึ่งสาขาธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีการพัฒนามาตรฐานธุรกิจมากขึ้นตามลำดับ โดยตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า มีธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์: Franchisors) ในประเทศไทยทั้งสิ้น 446 กิจการ จำนวนสาขารวมทุกธุรกิจ (แฟรนไชส์ซี: Franchisees) ประมาณ 83,622 สาขา ทั้งนี้ หากวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของธุรกิจแฟรนไชส์ จะพบว่าด้วยความน่าสนใจและการขยายตัวของธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับปัจจัยหนุนที่ได้กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แนวโน้มของธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2557 น่าจะยังเติบโตในเกณฑ์ดี โดยด้านยอดขายน่าจะขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 260,000 ล้านบาททั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่คาดว่าจะได้ความนิยมและเหมาะสมสำหรับจะลงทุนในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการลงทุนไม่สูงมากนัก และมีระบบการจัดการที่ไม่ซับซ้อน อีกทั้งจะต้องสอดรับกับรูปแบบการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้บริโภคใน ปัจจุบัน ที่มีวิถีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างเร่งรีบและต้องการสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาผ่อนคลายและช่วยอำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น อาทิ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจให้บริการต่างๆ (บริการชำระสินค้า/คาร์แคร์) รวมไปถึงธุรกิจการศึกษาที่กำลังมาแรงและเป็นที่ต้องการมากขึ้น สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการพัฒนาตนเองให้พร้อมกับการแข่งขันด้านการศึกษาและ ประกอบอาชีพ เป็นต้น ซึ่งการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยยังมีโอกาสอีกมาก โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัดในแต่ละภูมิภาค ที่มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของความเป็นเมืองและกำลังซื้อภาคประชาชนที่ เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยหลายประเภทที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจความงามและสุขภาพ ธุรกิจการศึกษา/เสริมทักษะ ซึ่งโอกาสทางธุรกิจไม่ได้จำกัดแค่ภายในประเทศ แต่ยังสามารถต่อยอดไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านแถบอินโดจีน (กัมพูชา เมียนมาร์ สปป.ลาว และเวียดนาม) ที่ยังเปิดกว้างสำหรับแฟรนไชส์ไทยที่มีศักยภาพเข้าไปเจาะตลาดผู้บริโภค โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความได้เปรียบด้านวัฒนธรรมการบริโภค และความคุ้นเคยในสินค้าและบริการของไทย ยังทำให้สินค้าแบรนด์ไทยมีโอกาสขยายธุรกิจและเจาะกำลังซื้อผู้บริโภคได้อีกมาก จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการในธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยไม่ต่ำกว่า 20 ราย ได้เข้าไปบุกเบิกตลาดแฟรนไชส์ในกลุ่มประเทศเหล่านี้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี จากการแข่งขันที่สูงทั้งจากแฟรนไชส์ของไทยเองและแฟรนไชส์ต่างชาติ การเลือกประเภทธุรกิจแฟรนไชส์สำหรับการลงทุน ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจ สภาพสังคมและพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ และใช้ความระมัดระวังในการเลือกลงทุนทำธุรกิจแฟรนไชส์ที่เกาะกระแสหรือมีการเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป เพราะจะนำมาซึ่งความเสี่ยงของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีวงจรชีวิตสั้น อาทิ อาหารและเครื่องดื่มบางประเภทที่ตามกระแสหรือสมัยนิยม เพราะลูกค้ามักจะเปลี่ยนพฤติกรรม/รสนิยมได้ง่าย และชอบทดลองร้านใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างฐานลูกค้า นอกจากนี้ การพิจารณาเลือกธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต หรือธุรกิจที่ผู้ประกอบการมีความถนัด และประการสำคัญคือ การบริหารจัดการแฟรนไชส์ให้เป็นไปตามมาตรฐานระบบการค้าที่ได้กำหนดไว้ มีส่วนอย่างมากต่อความสำเร็จของธุรกิจในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม