เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 อาจขยายตัวร้อยละ 0.6


แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพ.ค. 2557 ที่ผ่านมา จะนำไปสู่การปลดล็อกกลไกการทำงานของภาครัฐที่หยุดชะงักมาเป็นเวลานาน แต่คงต้องยอมรับว่า มาตรการเร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เร่งผลักดันโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาทิ การจ่ายเงินตามโครงการจำนำข้าว การเร่งอนุมัติโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุน และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 คงส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ในกรอบจำกัดเท่านั้น เนื่องจากการคลายปมปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปลายครึ่งปีแรก อาจส่งในระยะแรกเริ่มผ่านการปรับบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศให้ทยอยมีภาพที่ดีขึ้นก่อน

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมิ.ย. 2557…ยังสะท้อนสัญญาณที่ปะปน

  • การส่งออกเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นตามภาพอุปสงค์จากต่างประเทศ…แต่การใช้จ่ายภายในประเทศยังฟื้นตัวในวงจำกัด โดยการส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย. 2557 สามารถพลิกกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.8 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากที่หดตัวลงในช่วง 3 เดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ที่ร้อยละ 1.1 (YoY) และร้อยละ 2.7 (YoY) ในเดือนมิ.ย. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 0.1 (YoY) และร้อยละ 3.0 (YoY) ในเดือนพ.ค. ตามลำดับ แต่กระนั้น บรรยากาศทางการเมืองที่เริ่มนิ่งมากขึ้น ช่วยหนุนให้รายจ่ายบางรายการสามารถฟื้นตัวขึ้น อาทิ การใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่คงทน การนำเข้าสินค้าทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ตลอดจนปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ในประเทศ
  • มุมมองความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเป็นเชิงบวกมากขึ้น แม้สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเดือนมิ.ย. ยังอยู่ในกรอบที่จำกัด ทั้งนี้ แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจจะปรับตัวลงสู่ระดับ 48.0 จากระดับ 48.6 ในเดือนก่อน แต่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้านั้น ปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับ 54.0 จากระดับ 53.1 ซึ่งบ่งชี้ถึงมุมมองที่เชื่อมั่นมากขึ้นในระยะข้างหน้า และเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตภายในประเทศ ขณะที่ ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทยในเดือนมิ.ย. อยู่ที่ระดับ 88.4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนพ.ค. ตามองค์ประกอบที่ปรับตัวดีขึ้นของยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งขยับขึ้นมาที่ 101.9 ในเดือนมิ.ย.

 

เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2557…น่าจะทยอยฟื้นตัว แม้ยังต้องติดตามหลายปัจจัยท้าทาย

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/2557 อาจขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม การกลับมาชะลอตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจรายการสำคัญในเดือนมิ.ย. 2557 อีกครั้ง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้จีดีพีประจำไตรมาสที่ 2/2557 ของไทย น่าจะสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ แต่ก็น่าจะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 0.6 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งแม้จะต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 1.0 (YoY) แต่ก็ยังเป็นทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวลงร้อยละ 0.6 (YoY) ในช่วงไตรมาสแรกของปี

ส่วนแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2557 บรรยากาศทางการเมืองที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น น่าจะเอื้อให้เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจภายในประเทศ สามารถทยอยฟื้นตัวกลับมาช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในภาพรวม โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน อาจได้รับอานิสงส์บางส่วนจากมาตรการดูแลค่าครองชีพ ขณะที่ กิจกรรมการลงทุนภาคเอกชนบางส่วนก็น่าจะเริ่มทยอยเกิดขึ้น ส่วนภาคการส่งออกนั้น น่าจะมีจังหวะการขยายตัวที่ต่อเนื่องมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มทยอยปรากฎขึ้นอีกครั้ง ประกอบมีแรงหนุนจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 มีโอกาสขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.3-4.7 (YoY

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ไว้ที่ร้อยละ 1.8-2.6 (YoY) โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 2.3 (YoY) แม้สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2557 จะอ่อนแอกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย ทั้งนี้ คงต้องติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่ยังอาจเผชิญกับหลากหลายปัจจัยท้าทาย ทั้งการฟื้นตัวในกรอบจำกัดของตลาดในจีน ข้อจำกัดด้านอุปทานในสินค้าประมงซึ่งเผชิญกับปัญหาโรคระบาด การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และมาตรการของประเทศคู่ค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนบางรายการ ก็อาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างชัดเจนมากนัก เนื่องจากภาระหนี้ครัวเรือน และรายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน