ทางออกสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย


สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) โดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการ ได้เปิดเผยถึงทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี พ.ศ. 2557 ที่คาดว่าจะดีกว่าปี พ.ศ. 2556 โดยจะสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้กว่า 8 แสนล้านบาท จากความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขัน ทั้งทางด้านวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอาหารที่ผู้ประกอบการไทยมีรากฐานยาวนาน ส่งผลให้ประเทศผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยมากกว่าประเทศคู่แข่งขันต่างๆ

 

ถึงอย่างไร ในปัจจุบันการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศผู้บริโภค ด้วยปัจจัยต่างๆ ข้างต้น อาจจะไม่เพียงพอต่อการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยเป็นที่ยอมรับได้มากและกว้างขวางขึ้น ดังนั้น การใช้เครื่องมือหรือกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรักษา การควบคุมคุณภาพ และความปลอดภัยสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น มาตรฐาน International Organization for Standardization (ISO), ระบบปฏิบัติการที่ดีในการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร หรือ Good Manufacturing Practice (GMP), การศึกษาจุดวิกฤตและอันตรายในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร หรือ Hazard Analysis and Critical Point Systems (HACCP) หรือแม้แต่ระบบมาตรฐานการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารตามหลักศาสนาอิสลาม (Halal) เหล่านี้เป็นต้น นับเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร จำเป็นต้องศึกษาและริเริ่มปรับปรุงกระบวนการการดำเนินงานและการผลิตให้มีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยระบบ Traceability ได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของกระบวนการผลิต กระทั่ง ผลิตภัณฑ์ไปสู่ระบบการจัดจำหน่าย และถึงผู้บริโภคในท้ายที่สุด

 

ทั้งนี้ สศอ. ได้ยกตัวอย่างการประกอบการของบริษัท ไทยซุนฟู้ดส์ จำกัด (ไทยซุนฟู้ดส์ฯ) ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารเกษตรแปรรูป ประเภทอาหารกระป๋อง เช่น น้ำมะเขือเทศเข้มข้น ข้าวโพดหวานในน้ำเชื่อม ฯลฯ ที่ได้ก่อตั้งและดำเนินกิจการมากว่า 25 ปี ในจังหวัดหนองคาย โดยได้ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงาน และกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง กระทั่ง ผลิตภัณฑ์อาหารประเภทและชนิดต่างๆ ของไทยซุนฟู้ดส์ฯ เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ ทั้งในภูมิภาค ASEAN ไต้หวัน ฮ่องกง โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นตลาดหลักที่มีมูลค่าการส่งออกกว่าร้อยละ 80 ต่อปี จากมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 500 ล้านบาท

 

โดยรูปแบบการดำเนินงานของไทยซุนฟู้ดส์ฯ จะบริหารความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ ซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรตามฤดูกาล ด้วยการใช้ Contract Farming กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดหนองคายและใกล้เคียง ให้เพาะปลูกพืชวัตถุดิบให้มีคุณภาพและปริมาณตามมาตรฐานที่กำหนด ภายใต้การประสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยซุนฟู้ดส์ฯ และเกษตรกรอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง รวมถึง การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานและการผลิตของไทยซุนฟู้ดส์ฯ ให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารในระดับสากลต่างๆ เช่น ISO 22000, GMP, HACCP และ Halal ทั้งยังเพิ่มกระบวนการตรวสอบย้อนกลับ หรือ Traceability ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารเกษตรแปรรูปของไทยซุนฟู้ดส์ฯ ให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องและปลอดภัยได้ตลอดห่วงโซ่อุปทานของกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์อาหารเกษตรแปรรูปต่างๆ แก่ประเทศผู้นำเข้าของไทยซุนฟู้ดส์ฯ

 

ภายใต้สภาวะการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย ซึ่งแม้จะมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบ และประสบการณ์ของผู้ประกอบการในการแข่งขันกับคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารระดับนานาชาติ แต่ด้วยปัจจัยด้านการเมืองภายในประเทศ ได้ส่งผลเป็นอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มชาติตะวันตก เช่น  สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (European Union : EU) ที่ได้ระงับการเจรจาสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศกับไทย รวมถึง การนำมาตรการต่างๆ มาบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์ส่งออกของไทยอย่างเข้มงวดมากขึ้น

 

ดังนั้น การปรับตัวของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร จึงควรมุ่งเน้นการเสริมสร้างจุดแข็งแก่ผลิตภัณฑ์อาหาร นับตั้งแต่การผลิตและคัดเลือกวัตถุดิบที่มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด การปรับปรุงกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับสากล รวมถึง การส่งเสริมการตลาดระหว่างประเทศ ที่ภาครัฐควรร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยสู่ตลาดนานาประเทศ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะก้าวไปถึงระดับ 2 ล้านล้านบาทได้ ในปี พ.ศ .2560