ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนเดือนก.ค. 2557 ปรับลดลงจากปัจจัยด้านฤดูกาล


ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนก.ค. 2557 ปรับตัวลงมาที่ระดับ 41.8 โดยครัวเรือนบางกลุ่มมีความกังวลต่อสถานการณ์รายได้ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยเชิงฤดูกาล

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจัดทำดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) ขึ้น เพื่อให้เป็นเครื่องชี้สำหรับการติดตามภาวะการครองชีพของภาคครัวเรือนในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ จากผลสำรวจในเดือนก.ค. 2557 ดัชนี KR-ECI ปรับตัวลงท่ามกลางความกังวลต่อภาวะราคาสินค้า รายได้และเงินออมจากประเด็นด้านฤดูกาล อย่างไรก็ดี ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง น่าจะสะท้อนว่า ครัวเรือนบางส่วนเริ่มมีมุมมองที่ผ่อนคลายลงต่อภาวะการครองชีพ 

 

 ความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ในเดือนก.ค. 2557 ปรับตัวลงมาที่ระดับ 41.8 จาก 43.3 ในเดือนมิ.ย. ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ราคาสินค้า รายได้และเงินออม โดยอาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากปัจจัยเชิงฤดูกาล ที่เดือนก.ค. มีฝนตกมาก ทำให้อาจกระทบต่อความสม่ำเสมอของรายได้ของครัวเรือนที่ประกอบอาชีพค้าขายหรือมีรายได้เป็นรายวัน 

นอกจากนี้ ทิศทางราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ก็ปรับตัวสูงขึ้น เช่น หมวดเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคและบริการด้านสุขภาพ โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นได้ง่าย ทำให้ครัวเรือนต้องรับรู้ภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้น และหากพิจารณาจากข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคของกระทรวงพาณิชย์ จะพบว่า แม้ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนก.ค. 2557 จะชะลอมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 2.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) และปรับตัวลงร้อยละ 0.08 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) แต่ราคาสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ก็ยังคงปรับตัวสูงขึ้น อาทิ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม/รองเท้า และยารักษาโรค 

อย่างไรก็ดี ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ 47.4 จากระดับ 46.0 ในเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตได้ว่า แม้ครัวเรือนจะมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อภาวะรายได้ ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ความคาดหมายต่อสถานการณ์รายได้ใน 3 เดือนข้างหน้า ยังค่อนข้างทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับผลสำรวจในเดือนก่อนหน้า จึงอาจเป็นภาพที่สะท้อนว่า มุมมองเชิงลบต่อภาวะรายได้นั้น น่าจะเกิดจากปัจจัยชั่วคราว  นอกจากนี้ ในด้านความคาดหมายต่อสถานการณ์ราคาสินค้า และภาระค่าใช้จ่าย ก็เริ่มมีภาพที่คลายความกังวลลงบ้างบางส่วน ภายหลังจากภาครัฐยังคงมาตรการดูแลค่าครองชีพ และติดตามการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในภาพรวมอย่างใกล้ชิด

โดยสรุป แม้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ที่ปรับตัวลงมาที่ระดับ 41.8 ในเดือนก.ค. 2557 จะสะท้อนว่า ครัวเรือนยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อภาวะการครองชีพที่ยังคงอ่อนไหวตามสถานการณ์ราคาสินค้า ภาระค่าใช้จ่าย/หนี้สิน ตลอดจนรายได้และการมีงานทำ อย่างไรก็ดี การปรับตัวลงดังกล่าว น่าจะเป็นผลจากประเด็นด้านฤดูกาล ขณะที่ ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทยอยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ประเมินว่า การบริโภคภาคเอกชนน่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แม้กรอบการฟื้นตัวจะค่อนข้างจำกัดท่ามกลางความกังวลต่อภาระหนี้สิน และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ-การเมืองที่ยังคงมีประเด็นต้องติดตามต่อเนื่องในระยะข้างหน้า 

สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แรงขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจภายในประเทศ เมื่อประกอบเข้ากับการเริ่มฟื้นตัวของภาคการส่งออก อาจช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ที่ระดับประมาณร้อยละ 3.3-4.7 (YoY) ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับภาวะชะงักงันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงครึ่งแรกของปี