ดัชนีฯ SMEs มิ.ย. เพิ่มขึ้นทุกมิติ


สสว. รายงานดัชนี TSSI SMEs เดือน มิ.ย. 2557 เพิ่มขึ้นทุกมิติ ทั้งภาพรวมและรายภูมิภาค ผลจากเสถียรภาพทางการเมืองภายใต้การบริหารประเทศของ คสช. กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนของภาครัฐ-ภาคเอกชน ผนวกกับปัจจัยเอื้อด้านราคาน้ำมันลดลง ค่าเงินบาทอ่อน และค่าครองชีพดีขึ้น โดยมีธุรกิจค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค สถานีบริการน้ำมัน บริการขนส่งสินค้าและขนส่งมวลชน ครองแชมป์   ความเชื่อมั่นเพิ่มสูงสุด ส่วนคาดการณ์ 3 เดือน ผู้ประกอบการ SMEs ทุกกลุ่มธุรกิจเชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง

         

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ (Trade & Service Sentiment Index : TSSI) ประจำเดือนมิถุนายนเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 พบว่า ดัชนี TSSI SMEs รวมภาคการค้าและบริการ เพิ่มขึ้น 46.1 จากระดับ 39.5 (เพิ่มขึ้น 6.6) และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกภาคธุรกิจ โดยภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีอยู่ที่  46.7  46.5 และ 45.3 จากระดับ 42.0  39.1 และ 38.7 (เพิ่มขึ้น 4.7  7.4 และ 6.6) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 44.7 และ 45.8 จากระดับ 15.7 และ 28.6 (เพิ่มขึ้น 29.0 และ 17.2) ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาแต่ละประเภทกิจการ พบว่า ภาคค้าส่ง กิจการค้าส่งสินค้าอุปโภค/บริโภค ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 47.1 จากระดับ 40.2 (เพิ่มขึ้น 6.9) เนื่องจากประชาชนมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 75.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 70.7 และมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเพิ่มขึ้น ภาคค้าปลีก กิจการสถานีบริการน้ำมัน ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 48.7 จากระดับ 35.7 (เพิ่มขึ้น 13.0) เห็นได้จากปริมาณการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 91 E20 E85 และดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.4  40.9  138.0 และ 1.6 ตามลำดับ ทั้งนี้ระดับราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ภาคบริการ กิจการด้านการขนส่งมวลชนและขนส่งสินค้า ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ 49.5 และ 47.0 จากระดับ 32.4 และ 34.7 (เพิ่มขึ้น 17.1 และ 12.3) ตามลำดับ ผลจากสถานการณ์ด้าน      การขนส่งเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังจากที่มีการชะลอตัว เนื่องจากมีการเร่งตัวไปมากในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และผลจากระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวในทิศทางที่ลดลง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า รวมภาคการค้าและบริการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 56.3 จากระดับ 49.7 (เพิ่มขึ้น 6.6) และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกภาคธุรกิจเช่นกัน โดยกิจการภาคค้าส่ง ภาคค้าปลีก และภาคบริการ ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 53.6  58.2 และ 55.4 จากระดับ 50.8  49.6 และ 49.3 (เพิ่มขึ้น 2.8 8.6 และ 6.1) ตามลำดับ เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศและต่อธุรกิจตน ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 74.2 และ 68.4 จากระดับ 48.2 และ 50.6 (เพิ่มขึ้น 26.0 และ 17.8) ตามลำดับ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า มีค่าดัชนีสูงกว่าค่าฐานคือ 50 ทั้งในส่วนภาพรวมและทุกภาคธุรกิจ แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการ SMEs มีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับที่ดี

ขณะที่ผลการสำรวจดัชนีรายภูมิภาคในเดือนมิถุนายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 พบว่า ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค โดยภูมิภาคที่มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ค่าดัชนีอยู่ที่ 48.5 จากระดับ 36.5 (เพิ่มขึ้น 12.0) รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    ค่าดัชนีอยู่ที่ 45.5 จากระดับ 36.8 (เพิ่มขึ้น 8.7) ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 49.8 จากระดับ 42.8 (เพิ่มขึ้น 7.0) กรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 47.0 จากระดับ 40.3 (เพิ่มขึ้น 6.7) และภาคใต้ ค่าดัชนีอยู่ที่ 41.2 จากระดับ 39.2 (เพิ่มขึ้น 2.0) ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า เพิ่มขึ้นทุกภูมิภาคเช่นกัน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าดัชนีเดือนมิถุนายน 2557 เพิ่มขึ้นทุกๆ มิติ มาจากการเพิ่มขึ้นขององค์ประกอบด้านยอดจำหน่ายและกำไรเป็นหลัก เนื่องจากผู้ประกอบ SMEs มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มมากขึ้น ผลจากเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งดำเนินนโยบายเร่งด่วนทั้งการจ่ายเงินจำนำข้าวแก่ชาวนา การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนปี 2557 การเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ให้ทันตามกรอบเวลา การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม SMEs ของประเทศ ซึ่งช่วยกระตุ้นทั้งการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยเกื้อหนุนทั้งในเรื่องระดับราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวลดลง ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงส่งผลให้การส่งออกสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น และค่าครองชีพปรับตัวดีขึ้น ซึ่งปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี

 

ดัชนีความเชื่อมั่น TSSI (SMEs)

ประจำเดือนมิถุนายน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557

 

ภาคธุรกิจ

พ.ค.57

มิ.ย.57

ผลต่าง

เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

M

F3

M

F3

M

F3

รวมภาคการค้าและบริการ

39.5

49.7

46.1

56.3

6.6

6.6

ภาคค้าส่งและค้าปลีก

39.9

50.0

46.5

57.0

6.6

7.0

ภาคค้าส่ง

42.0

50.8

46.7

53.6

4.7

2.8

ภาคค้าปลีก

39.1

49.6

46.5

58.2

7.4

8.6

ภาคบริการ

38.7

49.3

45.3

55.4

6.6

6.1

 

หมายเหตุ :  M = เดือนปัจจุบัน   F3= คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า