ศูนย์ วิจัยกสิกรฯระบุ การส่งออกไทยน่าเป็นห่วงเกินคาด ช่วง ก.ค. 2557หดตัวลงร้อยละ 0.85% YoY หลังจากขยายตัวร้อยละ 3.9 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 57 ผลจากปัยจัยการหดตัวของภาคน้ำมันและทองคำ ประเมินทั้งปี 57 อาจขยาย แค่ 3.0% สะท้อนความสารถในการแข่งขันการส่งออก ในระยะข้างหน้า
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยยอดการส่งออกในเดือนก.ค. 2557 หดตัวลงเป็นเดือนที่ 5 จากในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557 ที่ร้อยละ 0.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2557 นับว่าต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (คาดไว้ที่ร้อยละ 3.5) และตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์ (คาดไว้ที่ร้อยละ 4.0) ค่อนข้างมา อันเป็นผลมาจากการมูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดน้ำมัน ทั้งน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบที่หดตัวลงอย่างมากถึงร้อยละ 23.2 (YoY)และการหดตัวร้อยละ 71.7 (YoY) ของการส่งออกทองคำ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 5.6 ของการส่งออกโดยรวมในเดือนก.ค. (แบ่งเป็นสัดส่วนของการส่งออกน้ำมันร้อยละ 4.9 และการส่งออกทองคำร้อยละ 0.7 ตามลำดับ)
ส่วนสาเหตุมาจากผลต่อเนื่องของการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ซึ่งทำให้การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปยังจีน และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยเฉพาะ สิงคโปร์ ยังคงไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ (ประกอบกับเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน)นอกจากนี้ ทิศทางการชะลอตัวของภาคการผลิต และความสามารถในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปในจีน ก็น่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การนำเข้าสินค้าในกลุ่มน้ำมันจากไทย ลดน้อยลงตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ การส่งออกทองคำที่หดตัวลงมากนั้น นอกจากจะเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงแล้ว ยังเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับบรรยากาศที่ซบเซาของการลงทุนในตลาดทองคำโลกด้วยเช่นกัน
ซึ่งหากไม่นับรวมการส่งออกในกลุ่มน้ำมันและทองคำ (หดตัวรวมกันประมาณร้อยละ 36.2 YoY) การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง อีกร้อยละ 2.5 (YoY) ในเดือนก.ค. 2557 จากร้อยละ 3.5 (YoY) ในเดือนมิ.ย. 2557 โดยมีสัญญาณบวกมาจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (27) และเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV
นอกจากนี้ สินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆ อาทิ ยางพารา แผงวงจร ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก/เหล็กกล้า/ผลิตภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญอื่นๆ ยังคงประคองการขยายตัวไว้ได้ต่อเนื่อง อาทิ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+14.5% YoY ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจาก +4.5% YoY ในเดือนมิ.ย.) คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+4.9% YoY ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจาก +4.6% YoY ในเดือนมิ.ย.) เม็ด/ผลิตภัณฑ์พลาสติก (+10.0% YoY ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจาก +9.2% YoY ในเดือนมิ.ย.) ขณะที่ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ก็มีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน อาทิ ข้าว (+3.2% YoY ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจาก +35.1% YoY ในเดือนมิ.ย.) และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง/แปรรูป (+13.2% YoY ในเดือนก.ค. ต่อเนื่องจาก +11.1% YoY ในเดือนมิ.ย.)
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีความเป็นไปได้น้อยลงที่การส่งออกในปี 2557 จะขยายตัวใกล้เคียงประมาณการกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 3.0 แต่เนื่องจากปัจจัยในเดือนก.ค. บางส่วนอาจเป็นปัจจัยชั่วคราว จึงรอติดตามข้อมูลการส่งออกในเดือนส.ค. 2557 (ที่จะรายงานในเดือนถัดไป) ก่อนที่จะทบทวนกรอบประมาณการสำหรับภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2557 ใหม่อีกครั้ง
ชี้จับตาการฟื้นตัวของคำสั่งซื้อจากคู่ค้าหลักระบุส่งผลต่อทิศทางการส่งออกไทยครึ่งหลังปี 2557
ในส่วนแนวโน้มการส่งออกไทยในครึ่งหลังปี 2557 ว่า แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป(27) และประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม(ซึ่งมีสัดส่วนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557 รวมกันประมาณร้อยละ 29.6 ต่อการส่งออกโดยรวมของไทย) จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงไม่สามารถชดเชยผลจากคำสั่งซื้อที่ชะลอตัว/ฟื้นตัวล่าช้าในตลาดส่งออกสำคัญอื่นๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในเอเชียได้ ซึ่งทำให้จังหวะการขยายตัวของการส่งออกของไทยยังคงไม่เป็นภาพที่มีความต่อเนื่อง
ทิศทางการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าต้องยอมรับว่า สถานการณ์การฟื้นตัวที่เปราะบางในภาคการผลิตและเศรษฐกิจโดยรวมของจีน เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากจะมีผลกดดันโดยตรงต่อแนวโน้มการส่งออกไทยไปจีนในภาพรวมแล้ว ก็ยังอาจมีผลทางอ้อมให้
การส่งออกไปยังเอเชียบางตลาด(ทั้งเพื่อนบ้านในอาเซียน และออสเตรเลีย) และราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายๆ ประเภทในตลาดโลกเผชิญกับเส้นทางการฟื้นตัวที่ยากลำบากมากขึ้น
ขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งมีผลทำให้สินค้าส่งออกของไทยหลายประเภท เผชิญโจทย์ความสามารถในการแข่งขัน และแนวโน้มความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ย่อมจะมีผลจำกัดกรอบการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน