ต้นปีหน้าไทยถูกตัด GSP สินค้าหลายรายการที่เคยได้เปรียบทางด้านภาษี จำต้องแบกรับมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจะหาทางออกอย่างไร ทางกรมการค้าต่างประเทศได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาช่วยหาทางออก
โดยในงานกล่าวถึงเรื่องที่ไทย ถูกตัดสิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป พร้อมทั้งแนะแนวทางแก้ปัญหารวมถึงการปรับตัวจากนักวิชาการทางด้านเศรษฐกิจ นางสาวมณฑา พันธุ์ทอง นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ และนักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้แก่ ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมทูน่าไทย นายชาติชาย สิงหเดช ผู้อำนวยการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย และ Mr. Emmanuel Cibla ผู้จัดการบริษัท Essilor Manufacturing (Thailand)
นางสาวมณฑา กล่าวว่า เหตุที่ไทยถูกตัด สิทธิทางภาษี GSP เพราะ ณ ตอนนี้ ไทยมมีรายได้ประชาชาติ(High Income) ที่สูงขึ้นมากจนเกินระดับ Upper Middle Income ซึ่งหมายถึงประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้นจนถึงระดับที่ไม่ต้องรับการช่วยเหลือทางภาษี ดังนั้น วันที่ 30 ตุลาคม 2013 สหภาพยุโรปจึงได้ทำการปรับปรุงรายชื่อประเทศผู้รับสิทธิ GSP ขึ้นใหม่ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 โดยมีประเทศที่ถูกระงับสิทธิ 4 ประเทศ ได้แก่ จีน เอกวาดอ ไทย และมัลดีฟส์ ซึ่งสินค้าไทยทุกชนิดไม่สามารถใช้สิทธิฯได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป ส่วนสินค้าสำคัญของไทยที่จะต้องเสียภาษีเพิ่มจากเดิมที่เสียเพียง 0% ได้แก่ ยานยนต์ขนส่ง เพิ่มขึ้น 3.5-22% ยางนอกรถยนต์ 4.5% เลนส์แว่นตา 2.9% เครื่องปรับอากาศ 2.2-2.7% และถุงมือยาง 2.7%
นางสาวมณฑา กล่าวต่อว่า สินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ของสหภาพยุโรปจะต้องมีถิ่นกำเนิดในประเทศผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิ ดังนั้นหากส่งสินค้าที่จะขอรับสิทธิฯ ดังกล่าวไปเก็บไว้ในประเทศที่สาม เพื่อแบ่งหีบห่อแล้วสามารส่งขายยังสหภาพฯนั้นสามารถทำได้ แต่สินค้าเหล่านั้นต้องอยู่ในความรับผิดชอบของประเทศผู้ส่งออก และต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของศุลกากรของประเทศที่สาม
นอกจากนี้ทางสหภาพฯ ยังมีการยกเว้นภาษีศุลกากรเป็นการชั่วคราวสำหรับสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจำเป็นในทวีปยุโรป โดยต้องไม่ใช่ สินค้าที่มีการผลิตเพียงพอในสหภาพยุโรป และสินค้าสำเร็จรูปที่ขายให้กับผู้บริโภคคนสุดท้าย ซึ่งผู้ประกอบการ สามารถตรวจสอบว่าสินค้าใดได้รับการยกเว้นในรายการ 1387/2013 หากไม่พบ สามารถยื่นให้ทางสมาคมสหภาพฯพิจารณาว่าเป็นวัตถุดิบขาดแคลนหรือไม่ได้
“สุดท้ายภาครัฐขอแนะนำให้ลองมองหาตลาดลงทุนใหม่ หรือโยกย้ายจุดส่งออกจาก EU อีกทั้งคิดว่ารายชื่อประเทศที่ไทยได้ทำข้อตกลง FTA นั้นน่าสนใจเพราะตลาดเหล่านี้เปิดใหม่ มีความสามารถในการรองรับสินค้าไทยและมีสิทธิพิเศษทางภาษี” นางสาวมณฑากล่าว
นายชาติชาย สิงหเดช กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตผ้าสิ่งทอ แนะให้มีการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องภาษี พร้อมทั้งพัฒนาให้ตัวเองมีความน่านสนใจ เพิ่มจุดขายให้มากขึ้น รวมทั้งร่วมมือกับภาครัฐให้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ไปลงทุนในต่างประเทศ ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นแบรนด์เสื้อผ้า ให้เน้นที่ตัวบุคลากรออกแบบแบรนด์ให้มีศักยภาพสูงขึ้น เพื่อพัฒนาแบรนด์พัฒนาสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาด และสร้างให้ธุรกิจให้เป็นธุรกิจสากลเพื่อมุ่งไปสู่การค้าและการลงทุนในต่างประเทศ
Mr. Emmanuel Cibla กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้นำผลิตแว่นสายตา ซึ่งมีฐานการผลิตในเมืองไทยมากว่า 25 ปีและไทยเป็นประเทศที่สำคัญที่สุดในโลกสำหรับการผลิตแว่นสายตาระดับคุณภาพ แว่นสายตาจึงเป็นสินค้าสำคัญที่ใช้ GSP จากเมืองไทยส่งออกไปยุโรป แม้อัตราภาษีเพียง 3% แต่ปริมาณการส่งออกนั้นสูงมาก ซึ่งการถูกตัดสิทธิ GSP ทางบริษัทได้ปรับตัวอย่างแรกคือพัฒนา นวัตกรรมให้มีความน่าสนใจจนตลาดต้องการสินค้า พร้อมทั้งพยายามลดต้นทุนด้วยการเอาขั้นตอนการผลิตที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้าออกไป อีกทั้งได้สร้างโรงงานในประเทศลาวเพื่อเป็นฐานการผลิต แล้วใช้เมืองไทยเป็นฐานการส่งออก เพราะลาวมีค่าแรงและพลังงานที่ถูกกว่าพร้อมทั้งสามารถขนส่งผ่านชายแดนบริเวณ Free Zone ได้ สุดท้ายคือใช้วิธีส่งออกวัตถุดิบเข้าไปผลิตใน EU ซึ่งขณะนี้ทางสหภาพยุโรปกำลังเจรจาว่าวัตถุดิบของเราขาดแคลนหรือไม่ หากทางสหภาพฯอนุมัยติ ไทยและประเทศอื่นเช่นจีนจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีสำหรับวัตถุดิบเลนส์แว่นตาทันที
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมทูน่าไทย เล่าให้ฟังว่า 3-4 ที่ผ่านมาทูน่าเป็นสินค้าที่ มีภาษีสูงถึง 24% แม้จะมีสิทธิทางภาษี GSP ที่ทำให้เหลือ 20.5% แต่ก็ยังเป็นอัตราภาษีเกือบสูงที่สุดในบรรดาสินค้าที่ยุโรปนำเข้าจากไทย เพราะยุโรปมีอุตสาหกรรมทูน่าที่ใหญ่อยู่แล้ว ซึ่ง ณ ตอนนี้อุตสาหกรรมทูน่าของไทยเป็นอันดับ 1 ของโลก มีปริมาณผลผลิตทั่วโลกเกือบ 30% ด้วยกระบวนการนำวัตถุดิบจากประเทศทั่วโลกมาผลิตและส่งออก ซึ่งผลผลิตจะบริโภคภายในประเทศเพียง 1 % แต่ส่งออกถึง 99%
“ทางสมาคมเตรียมรับมือกับการถูกตัดสิทธิทางภาษีของสหภาพยุโรปมานานแล้ว ซึ่งแต่เดิม ตลาดยุโรปกับอเมริกา มีสัดส่วนเป็น 80% ของการส่งออกทั้งหมด ปัจจุบัน ตลาดนี้เหลือเพียง 33 % ซึ่งในส่วนตลาดยุโรปหายไปถึง 28% หากแต่ปริมาณการส่งออกรวมทั้งหมดกลับขึ้นถึง 8% แม้จะตัดส่วนของตลาดยุโรปออกไปก็ตาม เหตุเพราะได้กระจายตลาดออกสู่ประเทศอื่นทำให้มียอดคำสั่งซื้อมากขึ้น อีกทั้งยังมีต้นทุนทางภาษีที่ต่ำกว่า” ดร.ชนินทร์กล่าว
การถูกระงับสิทธิทางภาษี GSP ของไทย ส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนผู้ส่งออกอย่างมาก หากแต่ผู้ส่งออก สามารปรับตัวพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้แล้ว นอกจากจะหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายต้นทุนทางภาษีที่ต้องเสีย ยังอาจจะเพิ่มมูลค่าและประมาณการส่งออกได้อีกด้วย ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พร้อมที่จะสนับสนุนและให้บริการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการวางแผน เปลี่ยนแปลงขยายตลาด และการลงทุนในต่างประเทศต่อไปได้ เพื่อประสิทธิภาพในการส่งออกของไทยที่ยั่งยืน