ไทยครองแชมป์การมีส่วนร่วมในกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการ อยู่อันดับต้น ๆ จาก 63 ประเทศทั่วโลก


ประเทศไทยครองแชมป์การเริ่มธุรกิจ หรือการมีส่วนร่วมในกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการสูงสุดเป็นลำดับต้นๆ จากการศึกษาจำนวน 63 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.2 โดยมีอายุการประกอบธุรกิจมากกว่า 3.5 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 28.6 สูงเป็นอันดับหนึ่งในประเทศแถบอาเซียน+3

 

สสว. รายงานผลการศึกษาความเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทยปี 2557 พบประเทศไทยครองแชมป์การเริ่มธุรกิจ หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการสูงสุดเป็นลำดับต้นๆ ในประเทศที่ทำการศึกษาจำนวน 63 ประเทศทั่วโลก หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.2 และมีอายุการประกอบธุรกิจมากกว่า 3.5 ปีขึ้นไป ร้อยละ 28.6 สูงเป็นอันดับหนึ่งในประเทศแถบอาเซียน+3 ซึ่งปัจจัยการสนับสนุนทางการเงิน ยังคงเป็นอุปสรรคอันดับแรกที่ส่งผลต่อการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทย

                ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินโครงการจัดทำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบเพื่อการพัฒนา (GEM : Global Entrepreneurship Monitor) ปี 2557 ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาสถานภาพ และระดับความเป็นสังคมผู้ประกอบการของประเทศไทย รวมทั้งทัศนคติการมีส่วนร่วมของประชากรในกิจกรรมด้านการเป็นผู้ประกอบการ และปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุนต่อการเติบโตของผู้ประกอบการ และโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการวิจัยในโครงการ Global Entrepreneurship Monitor (GEM) โดยเป็นการประเมินพร้อมทั้งเปรียบเทียบความเป็นผู้ประกอบการทั่วโลก ซึ่งมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายการวิจัยกับ GEM รวมกว่า 63 ประเทศทั่วโลก

                การศึกษาความเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทยปี 2557 โดยเปรียบเทียบสถานภาพและประเมินระดับความเป็นสังคมผู้ประกอบการของประเทศไทย แบ่งการศึกษาข้อมูลออกเป็น 2 ส่วนคือ การศึกษากิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทย และ การศึกษาสภาพแวดล้อมความเป็นผู้ประกอบการ สามารถสรุปผลการศึกษาในประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ โดยการศึกษากิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการในประเทศไทย จากการศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการไทยปี 2556 กับประเทศในกลุ่มอาเซียน+3 กลุ่มสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ประมวลผลจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,000 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการเริ่มธุรกิจของผู้ประกอบการสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 19.2 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด แนวโน้มทัศนคติของคนไทยต่อการเป็นผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 56 โดยผลสำรวจด้านความกลัวที่จะล้มเหลวในการประกอบธุรกิจลดลงร้อยละ 8.12 สอดคล้องกับผลการศึกษาด้านทักษะความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นในการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 7.75 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญในเรื่องผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกับมาตรฐานสังคมสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 82.6 แต่มีทัศนคติในการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 37.9

ผลการเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างวิสาหกิจขนาดกลางกับวิสาหกิจขนาดย่อมของประเทศไทยในปี 2557 พบว่า วิสาหกิจขนาดกลาง มีผลสำรวจในทุกด้านสูงกว่าวิสาหกิจขนาดย่อม กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างของวิสาหกิจขนาดกลางมีการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีพื้นฐานสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นผู้ริเริ่มดำเนินธุรกิจหรือมีธุรกิจส่วนตัวมาก่อน คิดเป็นร้อยละ 60 โดยร้อยละ 44.6 ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อขายผลิตภัณฑ์หรือบริการสำหรับธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 58.1

ในขณะที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อม ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับประถมและมัธยมศึกษา ร้อยละ 38.1 ที่มีพื้นฐานสมาชิกครอบครัวเคยดำเนินธุรกิจหรือมีธุรกิจส่วนตัว โดยร้อยละ 19.2 ได้จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และมีเพียงร้อยละ 12.8 ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการสำหรับธุรกิจ ทั้งนี้ ในส่วนทัศนคติมุมมองวิสาหกิจขนาดกลางมองว่า ในประเทศไทยมักได้รับทราบเรื่องราวเกี่ยวกับความสำเร็จในการก่อตั้งธุรกิจใหม่ตามสื่อต่างๆ อยู่เสมอ สูงกว่าวิสาหกิจขนาดย่อม ในขณะที่การเป็นผู้ประกอบการ การก่อตั้งธุรกิจใหม่ เป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพที่คนส่วนใหญ่ปรารถนา เป็นทัศนคติมุมมองที่วิสาหกิจขนาดย่อมให้ความสนใจสูงกว่ากลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง สำหรับการการศึกษาสภาพแวดล้อมความเป็นผู้ประกอบการ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เชี่ยวชาญในประเทศใน 9 สาขาธุรกิจ เพื่อประเมินสภาพแวดล้อมในการเริ่มต้นธุรกิจของผู้ประกอบการในด้านสังคม วัฒนธรรม และเชิงนโยบายพบว่า ปัจจัยอุปสรรคที่ส่งผลต่อการพัฒนาสังคมความเป็นผู้ประกอบการ 3 อันดับแรก คือ   1) การสนับสนุนทางการเงิน คิดเป็นร้อยละ 69.64 แม้ว่าจะมีการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้นในปัจจุบัน แต่การช่วยเหลือดังกล่าวยังคงไม่เพียงพอ เนื่องจากเงื่อนไขการอนุมัติที่ยังขาดความยืดหยุ่น 2) การเปิดกว้างของตลาด คิดเป็นร้อยละ 32.77 แม้ว่าผู้บริโภคในประเทศจะมีการเปิดรับต่อสินค้าและบริการใหม่ๆ แต่ผู้ประกอบการรายเล็กในประเทศไทยยังคงไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดอย่างเสรี เนื่องจากยังคงมีการกีดกันจากธุรกิจรายใหญ่ และ 3) นโยบายภาครัฐที่ยังขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 32.23 เมื่อประกอบกับสถานการณ์ทางการเมือง จึงอาจจะส่งผลต่อความไม่ต่อเนื่องของโครงการต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจเกี่ยวกับนโยบายภาครัฐในระยะยาว

ในส่วนของปัจจัยอุปสรรคต่อการขยายธุรกิจจากขนาดเล็กสู่ขนาดกลาง พบว่า สอดคล้องกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาสังคมความเป็นผู้ประกอบการในอันดับแรกคือ การสนับสนุนทางการเงิน คิดเป็นร้อยละ 66.67 เนื่องจากสถาบันการเงินส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโน้มที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่วิสาหกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางมากกว่าวิสาหกิจขนาดย่อม 2) การเปิดกว้างของตลาด คิดเป็นร้อยละ 38.89 เนื่องจากยังคงได้รับการกีดกันทางการค้าจากคู่แข่งขนาดใหญ่ทั้งในและจากต่างประเทศ 3) การเข้าถึงข้อมูล และเครือข่ายธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 36.11 และ 4) ทักษะและความสามารถของผู้ประกอบการ คิดเป็นร้อยละ 30.56 เนื่องจากผู้ประกอบการรายเล็กส่วนใหญ่ยังคงขาดทักษะในการบริหารจัดการธุรกิจ จึงทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ