จับตาโอกาสธุรกิจไทยและประเด็นท้าทายในยุคอินเดียใหม่


จับตายุคอินเดียหลังเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ เศรษฐกิจตามนโยบายหาเสียงที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอินเดีย ลดปัญหาการว่างงาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ต่อต้านคอรัปชั่น เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาสสองที่เติบโตขี้นร้อยละ 5.7 ต่อปี ซึ่งสูงที่สุดในรอบสองปีที่ผ่านมา เล็งโอกาสธุรกิจไทยจะอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตร และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าสินค้าอุปโภคบริโภค 

อินเดียหลังเลือกตั้งเน้นแก้ปัญหาระยะยาว สร้างความแข็งแกร่งเชิงโครงสร้าง และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

            เศรษฐกิจอินเดียในไตรมาส 2/2557 หรือไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5.7 ต่อปี เป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเติบโตเร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี ซึ่งการเติบโตมีแรงหนุนสำคัญจากการเติบโตของภาคบริการ สัดส่วนร้อยละ 60 ของระบบเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี และภาคการผลิต สัดส่วนร้อยละ 14 ของระบบเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี ถึงแม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจจะไม่ใช่ผลโดยตรงจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่สามารถสะท้อนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนต่อการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ การเข้ามาบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลชุดใหม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบสำคัญ ผ่านแผนงบประมาณปี 2557/58  ที่มีแผนการใช้จ่ายทั้งสิ้นอยู่ที่ 17.9 ล้านล้านรูปี หรือราว  ๆ 10 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12..8 จากปีงบประมาณก่อนหน้า รวมไปถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียอย่างเข้มข้น ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลากประเด็นคือ การกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านมาตรการภาษี โดยอินเดียได้เพิ่มวงเงินการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 2 แสนรูปีเป็น 2.5 แสนรูปีการเพิ่มและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมืองและชนบท การจัดสรรงบประมาณพัฒนาถนน ทางด่วน สนามบิน ท่าเรือ รวมไปถึงการปฏิรูปการรถไฟ ซึ่งอินเดียมีการกำหนดการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง การสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ รวมไปถึงโครงการสร้างถนนไฮเวย์และถนนในชนบททั่วประเทศ การผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนโดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าประเภทคงทนซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งนี้อินเดียได้อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ การถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทประกันภัยและบริษัทผลิตอาวุธที่นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 เป็นร้อยละ 49 ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมทั้งสองมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกผ่านการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบการผลิตที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก รวมไปถึงการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในกิจการถ่านหินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอินเดียยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนและวัสดุที่ใช้ในการติดตั้งโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ รวมไปถึงชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตเครื่องปั่นพลังงานลม อีกทั้งการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเข้มข้น สะท้อนการเร่งปรับตัวหาพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งในด้านการลงทุนและการค้า หลังจากชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนาย โมดีดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกด้วยการเชิญผู้นำเอเชียใต้ 6 ประเทศเข้าร่วมพิธีสาบานตนรวมถึงการเจรจาหารือรายประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศปากีสถานที่มีความขัดแย้งกับอินเดียเป็นระยะเวลานาน

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจอินเดียน่าจะขยายตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 5 – 5.5  ในปีงบประมาณ 2557/58 จากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในปีงบประมาณ 2556/57 โดยเป็นการขยายตัวที่มีแนวโน้มที่ดีหากเทียบกับประเทศสมาชิกในกลุ่ม BRICS อย่างไรก็ดี ปัญหาเงินเฟ้อของอินเดียที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง กดดันให้อินเดียดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ซึ่งจะส่งผลต่อภาระต้นทุนทางธุรกิจ อีกทั้งปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและปัญหาการขาดดุลการคลังยังเป็นประเด็นที่ท้าทายการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมัน ปุ๋ยและอาหารที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ยอดขาดดุลการคลังของอินเดียที่ในปีงบประมาณ 2556/57 มีสัดส่วนสูงถึง 86.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราวร้อยละ 4.5 ของจีดีพี

โอกาสธุรกิจไทยในยุคอินเดียใหม่…ภายใต้นโยบายกระตุ้นการลงทุนและการเร่งกระชับการลงทุนกับต่างประเทศ เน้นอุตสาหกรรมเกษตร ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสินค้าอุปโภคบริโภค

อินเดียอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีพื้นที่เพาะปลูกใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ อีกทั้งโครงสร้างประชากรที่อยู่ในวัยแรงงานมีสัดส่วนอยู่ที่ราวร้อยละ 65.70   และค่าจ้างแรงงานมีระดับต่ำในแรงงานที่มีความสามารถภาษาอังกฤษ เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ส่งให้อินเดียพัฒนาเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญงานสนับสนุนองค์กร (Back office) รับงานด้าน การจัดจ้างคนภายนอก หรือ Outsourcing ระดับโลกในยุคเทคโนโลยีอย่างเช่นในปัจจุบัน นอกจากอินเดียจะมีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตและงานสนับสนุนองค์กรของโลกแล้ว หากมองในแง่ตลาดผู้บริโภค อินเดียเป็นตลาดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย (รองจาก จีน และ ญี่ปุ่น)  มีประชากรราว 1.2 พันล้านคน รวมไปถึงศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย ทำให้อินเดียเป็นตลาดสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศ รวมไปถึงโอกาสสำหรับธุรกิจส่งออกของไทยในสินค้าอีกหลากหลายรายการ ซึ่งอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในการทำตลาดอินเดีย ได้แก่

ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับชาวอินเดีย โดยสองในสามของชาวอินเดียในประเทศยังพึ่งพาการเกษตรเพื่อการเลี้ยงชีพ แต่ถึงแม้ว่าชาวอินเดียจะมีการทำการเกษตรเป็นจำนวนมาก หากแต่ยังเป็นลักษณะการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ ซึ่งหากฝนไม่ตกตามฤดูกาลจะส่งผลกระทบต่อรายได้และการบริโภคโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทของประเทศ  จึงทำให้ทางภาครัฐบาลอินเดียยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการค้าสินค้าอุปโภคบริโภค การเพิ่มยอดเงินที่งดเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยให้ชาวอินเดียมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นและอาจนำมาสู่การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรวม ประกอบกับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าทุนและเครื่องจักรที่ใช้สำหรับบรรจุสินค้าเป็นการลดต้นทุนสำหรับบริษัทแปรรูปอาหารในอินเดีย และถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในสินค้าอาหาร นอกจากนี้ การสนับสนุนของภาครัฐในหลายอุตสาหกรรมแม้อาจไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับผู้ประกอบการไทยแต่ก็อาจเป็นผลบวกต่อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนั้นๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มความต้องการรถยนต์ทุกประเภทในอินเดียเนื่องจากราคารถยนต์ที่ลดลง โดยน่าจะส่งอานิสงส์ให้อินเดียมีการนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์เพิ่ม สำหรับธุรกิจค้าปลีก นั้น แม้ล่าสุดอินเดียจะอนุมัติให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ร้อยละ 100 ของการลงทุนในลักษณะ Single Brand Retail แต่อินเดียก็ยังมีข้อจำกัดสำหรับการลงทุนในรูปแบบ Multi-Brand Retail อีกทั้งความตั้งใจที่จะปกป้องดูแลผู้ประกอบการค้าปลีกในประเทศ และยังมีรายละเอียดปลีกย่อยในขั้นตอนการจัดตั้งที่เป็นอุปสรรค ดังนั้น การเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกของต่างชาติรวมถึงไทย คงยังจะไม่ใช่เรื่องง่ายและยังคงต้องติดตามท่าทีด้านนโยบายต่อไป

            สำหรับด้านการค้าระหว่างไทยและอินเดียในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2557 การส่งออกไทยไปอินเดียมีมูลค่า 3,777.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.25 ต่อปี โดยในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตของการส่งออกของไทยไปอินเดียในระยะข้างหน้าน่าจะเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการบริโภคและลงทุนซึ่งมีการปฏิรูปเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นตัวเร่งและการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียที่จะเป็นปัจจัยส่งให้ทิศทางการส่งออกของอินเดียดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคภายในประเทศ ภาคการผลิตและเพื่อส่งออกของอินเดียมีแนวโน้มมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์ เหล็ก เครื่องจักรและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ตลอดจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและเครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบจะยังเติบโตต่อเนื่อง 

อนึ่ง จากปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมการส่งออกจากไทยไปอินเดียในปี 2557 มีแนวโน้มการเติบโตที่ร้อยละ 5.5 กรอบประมาณการขยายตัวร้อยละ 3.5 ถึง 7.5 โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 5,360 -5,570 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และผลักดันให้การส่งออกในปี 2558 ให้เติบโตต่อเนื่อง