ระวังให้ดีรับชำระค่าสินค้าด้วยเช็ค โดย ทนายอำพล รัตนมูสิก


     ท่านนักลงทุนและผู้อ่านครับ  การรับชำระหนี้ด้วยเช็คปัจจุบัน  ต้องระมัดระวังเพราะเดี๋ยวนี้  ความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คไม่มีใครกลัวกันแล้ว  จ่ายเช็คเด้ง  เจ้าหนี้ทวงเตือน   เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกครั้งแรกไปรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จตำรวจปล่อยตัวไม่ต้องวางเงินประกัน  สุดท้ายขอผ่อนชำระง่ายๆ  กฎหมายถือว่าผู้ออกเช็คเด้งไม่ใช่อาชญากร   เราในฐานะนักลงทุนสูญเสียสินค้าไปกระทบต่อกระแสหมุนเวียนหากเจอเข้ารายหลายก็แย่ได้เหมือนกันนะครับ   วันนี้มีเรื่องเล่าที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับการรับชำระหนี้เด้วยเช็ค  คือ  เช็คที่ถูกธนาคารปฏิเสธแล้ว  ผู้ออกเช็คนำมาแก้วันที่ลงในเช็คแล้วเซ็นชื่อกำกับ  นำมาชำระหนี้ค่าสินค้าให้กับเราใหม่  ไม่เป็นความผิดอาญาอีก  แต่ผิดทางแพ่งอย่างเดียว  วันนี้มีฎีกามาฝากลองอ่านดูนะครับ

     ข้อเท็จจริง   นางปวีณา ถูกฟ้อง ได้ออกเช็คชำระเงินค่าเช่าซื้อจำนวน  400,000 บาท เป็นเช็คธนาคารออมสิน  สาขาสวี  ลงวันที่ 15 กันยายน  2544 มอบให้นายอลงกรณ์ไว้เพื่อชำระค่าเช่าซื้อรถแบ็คโฮและรถแทรกเตอร์  ต่อมา เช็คฉบับลงวันที่  15  กันยายน  2544    ถึงกำหนดใช้เงิน  นายอลงกรณ์จึงนำเช็คไปเข้าบัญชีที่ธนาคารทหารไทยจำกัด (มหาชน)  เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544   เพื่อเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร ฯ  ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน  ให้การปฏิเสธว่า “เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย”   เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2544 

     นายอลงกรณืจึงนำเช็คไปแจ้งความดำเนินคดีกับนางปวีณา  ข้อหา  ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค  หรือในขณะออกเช็คโดยเจตนาไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ฯ

     ตำรวจเรียกตัวนางปวีณา  แจ้งข้อ หา แล้วปล่อยตัวไป  เมื่อนางปวีณา ให้การปฏิเสธ  ภายหลังการสอบสวน  นางปวีณาให้การปฏิเสธ   ตำรวจและอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง
 
     ศาลชั้นต้น  พิพากษาว่านางปวีณามีความผิดตามพรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา4 (๑)(๓)  จำคุก 3 เดือน  จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษ 1/3  คงจำคุก  2  เดือน
 
     นางปวีณาอุทธรณ์   ศาลอุทธรณ์  ภาค ๘  พิพากษา  ยกฟ้อง
     
     โจทก์   ฎีกา   ศาลฎีกา  ได้ข้อเท็จจริงว่า วันที่  5  มิย.41  นายเดชดี สามีนางปวีณา ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถแบ็คโฮและรถแทรกเตอร์ รวม 3 คัน ไปจากนายอลงกรณ์   มีนางปวีณา  สั่งจ่ายเช็คธ.ออมสิน จำนวน 400,000 บาทลงวันที่ 25  กันยายน  2541 และเช็คอื่นอีก 2 ฉบับ  ต่อมานายเดชดีผิดสัญญาเช่าซื้อ   นางปวีณาจึงได้เข้าทำสัญญาเช่าซื้อกับนายอลงกรณ์เพื่อจะใช้รถต่อไปโดยตกลงเช่าซื้อในราคา  850,000 บาทแบ่งชำระเป็น 2 งวด ในการชำระเงินงวดแรก นางปวีณาได้นำเช็ค ฉบับที่เด้งครั้งก่อนมาแก้วันที่  จาก  วันที่ 25 กันยายน 2541 เป็น วันที่ 15 กันยายน 2544 มอบให้แก่นายอลงกรณ์ไว้เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตามสัญญา  ขณะแก้ไขวันที่  นางปวีณาได้ลงนามกำกับการแก้ไขวันที่เรียบร้อย  ตามมาเมื่อเช็คถึงกำหนดเวลาตามวันที่ที่ได้แก้ไข  ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย
 
     ปัญหาต้องวินิจฉัย  การกระทำของนางปวีณามีความผิดตามฟ้องหรือไม่  เห็นว่า  การที่ นางปวีณา นำเช็คที่ถูก ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินมาแล้ว  มาแก้ไขวันที่และลงชื่อกำกับวันที่ที่แก้ไขไว้  แม้เจตนาจะให้มีผลผูกพันเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ นางปวีณา ทำสัญญากับ นางอลงกรณ์ และเป็นการแก้ไขวันสั่งจ่ายเงินซึ่งเป็นสาระสำคัญในเช็ค ตาม ปพพ.มาตรา 1007 แต่การลงวันที่ใหม่และลงนามกำกับแก้ไข  อันเป็นรายการที่มีอยู่ในเช็คเดิม  จึงเป็นเพียงการแก้วันที่ในเช็คเพียงอย่างเดียว  เช็คพิพาทยังเป็นเช็คเดิมไม่เป็นการออกเช็คใหม่แต่อย่างใด   เมื่อเช็คพิพาทถูกปฏิเสธมาครั้งหนึ่งแล้ว  ความผิดฐานเจตนาออกเช็คโดยไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันนั้นแล้ว  การที่นายอลงกรณ์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินอีกและ ธ .ปฏิเสธการจ่ายเงินครั้งที่ สอง  จึงหาได้เกิดความผิดขึ้นใหม่อีกเพราะเป็นการกระทำอันเดียวกันนั้นเอง  การกระทำอันเดียวจะเป็นความผิดสองครั้งหาได้ไม่  การกระทำของ นางปวีณา จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง  แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าว ศาลฎีกา ยกขึ้นว่ากล่าวได้   ที่โจทก์ฎีกาว่าคดีไม่ขาดอายุความ  จึงหาจำต้องวินิจฉัย เนื่องจากไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป  ที่ศาลอุทธรณ์ ภาค ๘  พิพากษานั้น  ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล

     พิพพากษา   ยืน

     ฎีกา  13/53    พรบ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ม.4

                                                                                                                     ทนายอำพล  รัตนมูสิก