คยสังเกตกันบ้างมั้ยว่า ทำไมประธานต้องนั่งหัวโต๊ะเสมอ ถ้าตอบกันแบบเล่นๆ ใครนั่งหัวโต๊ะก้อเป็นคนจ่ายตังค์ไง นั่นเป็นเรื่องของการเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูง แต่ถ้าเป็นธุรกิจแล้วล่ะก้อ ตำแหน่งประธานหัวโต๊ะมีความหมายมากกว่าที่คิด เรื่องนี้ถ้าถามในเชิงฮวงจุ้ยมีคำตอบให้ครับ
หลักฮวงจุ้ยบอกว่า ตำแหน่งบัญชาการ จะต้องอยู่สูง หรืออยู่ตรงกลาง เพื่อจะได้มุมมองที่กว้างที่สุด สามารถเก็บรายละเอียดได้ทุกจุด คนที่นั่งหัวโต๊ะจะเป็นจุดที่มองเห็นคนนั่งได้ทุกคน ทั้งด้านซ้าย ด้านขวา ด้านหลัง ประธานสามารถรู้อารมณ์ ความรู้สึก ความตั้งใจไม่ตั้งใจ ความกระตือรือร้นของผู้เข้าประชุมได้ ในทางกลับกันผู้เข้าร่วมประชุม จะมีประธานเป็นจุดโฟกัส เวลาประธานออกความคิดเห็น ทุกคนในที่ประชุมจะมองเห็นประธานได้ชัดเจน เพราะไม่มีใครบัง ซึ่งส่วนใหญ่โต๊ะประชุมจึงถูกออกแบบในรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นหลัก
ลักษณะห้องประชุมแบบนี้ จะเหมาะกับการประชุมแบบเป็นทางการ เช่น การประชุมสรุปงานประจำสัปดาห์ หรือการประชุมเพื่อพรีเซ็นต์งาน บรรยากาศในห้องประชุมจะซีเรียสจริงจัง เต็มไปด้วยข้อมูล ลักษณะห้องประชุมแบบนี้จะไม่เหมาะกับการเจรจาทางธุรกิจสักเท่าไหร่ เพราะการเจรจาธุรกิจ จะต้องรู้สึกผ่อนคลาย ไม่มีความกดดัน ห้องประชุมจึงไม่ควรใช้แบบเป็นทางการ
“ใช่แล้ว ผมกำลังจะบอกว่า การเลือกโต๊ะประชุมมีความหมายมากกว่าที่คิด”
การเลือกโต๊ะประชุมว่าจะเป็นแบบใด ถือว่ามีความสำคัญ อย่างการประชุมที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จะไม่ใช้โต๊ะประชุมแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่จะใช้โต๊ะประชุมทรงกลมแทน เหตุผลก็เพราะ โต๊ะกลม จะไม่มีตำแหน่งของประธาน ทุกคนมีสิทธิเป็นประธานเหมือนกัน เรียกว่ามีสิทธิแสดงความคิดเห็นแบบเท่าเทียบกัน
งานที่ต้องการระดมสมอง หรืองานพวกครีเอทีฟที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งหลาย ก็นิยมใช้โต๊ะกลมมากกว่าโต๊ะเหลี่ยม รวมไปถึงการคุยเรื่องธุรกิจก็เช่นเดียวกัน โต๊ะกลมจะให้ความรู้สึกที่ไม่มีใครใหญ่ใครเล็ก ธุรกิจเป็นเรื่องของผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย จึงให้บรรยากาศที่เป็นกันเองมากกว่า โต๊ะประชุมที่มีคนนั่งหัวโต๊ะ
ผมเคยดูหนังประเภทเจ้าพ่อมาเฟีย เวลาประชุมหัวหน้าเจ้าพ่อทั้งหลายเรื่องผลประโยชน์ จะใช้โต๊ะกลม เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร นั่นเอง
กรณีที่โต๊ะประชุมเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตำแหน่งหัวโต๊ะจะมีสองด้าน ประธานควรนั่งตรงไหนดี เรื่องนี้ถ้าถามในเชิงฮวงจุ้ยอาจมีข้อถกเถียงขึ้นมาได้ เพราะโดยส่วนใหญ่ตำแหน่งที่ดี ไม่ควรอยู่ตรงกับประตูทางเข้า แต่ในกรณีห้องประชุม ผมว่าประธานหัวโต๊ะจะต้องนั่งอยู่ใกล้ประตู เหตุผลก็เพราะ..
“ประธานเข้าทีหลัง..ออกก่อน”
นี่เป็นคำกล่าวที่ตรงจุดสำหรับการเลือกตำแหน่งของประธาน เพราะโดยส่วนใหญ่ประธานการประชุมจะเข้ามาหลังสุดเมื่อผู้เข้าประชุมพร้อม ไม่ใช่ให้ประธานเข้ามานั่งรอผู้เข้าประชุม เมื่อประชุมเสร็จ ประธานก็จะออกไปก่อน การอยู่ใกล้กับประตูจึงเป็นจุดที่สะดวกที่สุดทั้งเข้าทั้งออก หลักเกณฑ์นี้ ส่วนใหญ่จะใช้กับห้องประชุมขนาดใหญ่ ส่วนห้องประชุมเล็กๆเรื่องตำแหน่งประธานว่าจะนั่งตรงไหน คงไม่ใช่ปัญหามากนัก
เรื่องเล็ก น้อยๆแบบนี้ บางครั้งอาจดูว่าไม่สำคัญอะไร แต่ถ้ารู้จักทำให้ถูกต้อง ย่อมส่งผลดีต่อการทำงานแบบไม่รู้ตัว ตำแหน่งประธานในห้องประชุม ก็คงพอเข้าใจกันแล้วนะครับ
อ.มาโนช ประภาษานนท์
ผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ย
Mobile : 081-841-2865
Line ID : manoch2502