ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ในช่วงปลายปีนักท่องเที่ยวไทย มีแนวโน้มสูงในการท่องเที่ยวในประเทศ โดยประเมินว่าภาคเหนือ และอีสาน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมที่สุด และอาจมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ทั้ง 2 ภาคประมาณ 48,500 ล้านบาท
ฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทยในช่วงปลายปีเริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว คาดว่าจะมีคนไทยนิยมเดินทางไปสัมผัสอากาศที่หนาวเย็นจัดตามยอดดอยและยอดภูในตอนบนของประเทศ คือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีภูมิประเทศสวยงามด้วย ทะเลหมอก รวมถึงพืชพรรณไม้ทั้งไม้ดอก ไม้ผล และพืชผักเมืองหนาว โดยส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากสถิติการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 รวบรวมโดยกรมการท่องเที่ยว ชี้ให้เห็นว่า ปลายทางท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมเดินทางไปในช่วงปลายปี 5 อันดับแรก คือ เชียงใหม่ ระยอง ชลบุรี นครราชสีมา และภูเก็ต ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อประกอบกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในปัจจุบันทั้งทางบกและทางอากาศยิ่งช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างมาก และสถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจสายการบินที่ต่างนำเสนอโปรโมชั่นด้านราคาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว อาทิ การจัดรายการโปรโมชั่นร่วมกับสถาบันการเงิน ให้ลูกค้าสามารถแบ่งชำระค่าบริการแพ็กเกจทัวร์ด้วยบัตรเครดิต เป็นต้น รวมถึงแรงหนุนที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศจากมาตรการภาครัฐ เช่น เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 5 วัน (ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2557 – 4 มกราคม 2558) อีกทั้งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวภายในประเทศถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้น ซึ่งล้วนเกื้อหนุนตลาดไทยเที่ยวไทยในปีนี้
นอกจากนี้ เครือข่ายสังคมออนไลน์ยังมีบทบาทช่วยในการสนับสนุนการท่องเที่ยวได้ จากการโพสและแชร์ภาพสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามต่าง ๆ ซึ่งกระตุ้นจิตใจนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2557 : คนไทยเที่ยวเหนือ…สร้างเม็ดเงินสะพัด 3.30 หมื่นล้านบาท
นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักของภาคเหนือ คือ นักท่องเที่ยวคนไทย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์ในพื้นที่ยังมีการนำเสนอแพ็กเกจทัวร์เส้นทางใหม่ๆ โดยนอกจากแพ็กเกจทัวร์ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่แล้ว ยังมีแพ็กเกจทัวร์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (เช่น เส้นทางจากแม่สาย/ แม่สอดของไทยไปยังเมียนมาร์ เป็นต้น) และหลังจากมีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์ก็หันมานำเสนอแพ็กเกจทัวร์จากเชียงของ ไทย ไปยังเชียงรุ้ง สปป.ลาว และสิบสองปันนา จีน ตอนใต้ โดยมีแนวโน้มที่เส้นทางท่องเที่ยวสายนี้จะได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในอนาคต
จากปัจจัยเกื้อหนุนดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่า ตลาดคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในภาค เหนือช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 คาดว่าจะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือรวมทั้งสิ้นประมาณ 7.20 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีแนวโน้มก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดภายในภาคเหนือคิดเป็นมูลค่า 33,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าประมาณ 29,600 ล้านบาท โดยเม็ดเงินรายได้ท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ 33,000 ล้านบาท ที่คาดว่าจะสะพัดตามแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือ ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ มีแนวโน้มกระจายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องของเมืองท่องเที่ยวหลัก คือ เชียงใหม่ ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 50.0 ของเม็ดเงินรายได้ท่องเที่ยวที่คาดว่าจะสะพัดในภาคเหนือช่วงปลายปี 2557 ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 16,700 ล้านบาท มีแนวโน้มกระจายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่
ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2557 : คนไทยเที่ยวอีสาน…สร้างเม็ดเงินสะพัด 1.55 หมื่นล้านบาท
นอกจากบรรยากาศของกลิ่นอายฤดูหนาวด้วยอากาศที่หนาวเย็นแล้ว ภาคอีกสานยังเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงหัวเมืองสำคัญ อาทิ อุดรธานี หนองคาย อุบลราชธานี เป็นต้น ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว เส้นทางอุดรธานี-หนองคาย-เวียงจันทน์ หรืออุบลราชธานี-ปากเซ และกัมพูชา เป็นต้น โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทางบก เส้นทางถนน และรถไฟ นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจบริการขนส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวคนไทยที่มีแผนเดินทางไปเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเกื้อหนุนการเดินทางท่องเที่ยวโดยเฉพาะแบบเช้าไป-เย็นกลับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดคนไทยท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งสิ้นประมาณ 8.50 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และมีแนวโน้มก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคิดเป็นมูลค่า 15,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินรายได้ท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ15,500 ล้านบาท ที่คาดว่าจะสะพัดตามแหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มกระจายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องของเมืองท่องเที่ยวสำคัญ คือ นครราชสีมา คิดเป็นมูลค่า 2,700 ล้านบาท รองลงมา คือ ขอนแก่น คิดเป็นมูลค่า 2,500 ล้านบาท รวมถึงอุดรธานี คิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านบาท และอุบลราชธานี
คิดเป็นมูลค่า 1,500 ล้านบาท
ในช่วงปลายปี นอกจากจะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว ยังเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของคนไทยที่นิยมเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นในพื้นที่ภาคเหนือและภาตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของแต่ละภาค คือ เชียงใหม่ และนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามทางธรรมชาติ ประกอบกับความโดดเด่นของเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกทั้งความสะดวกสบายในการเดินทาง ส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากระบบโครงสร้างพื้นฐานและการเติบโตของธุรกิจสายการบิน รวมถึงมาตรการส่งเสริมจากภาครัฐ โดยคาดว่า การเดินทางท่องเที่ยวภาคเหนือและภาคอีสานของคนไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดคิดเป็นมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นประมาณ 48,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงปลายปีจะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยเลือกเดินทางไปสัมผัสอากาศที่หนาวเย็นในแหล่งท่องเที่ยวภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังคงมีปัจจัยท้าทายที่มีแนวโน้มกระทบการใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยว อาทิ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้คนไทยบางส่วนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับกำลังซื้อของแต่ละบุคคล/ครัวเรือน ฉะนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวที่ต้องการกระตุ้นตลาดคนไทย อาจต้องดำเนินกิจกรรมทางการตลาดอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งที่เดินทางกันเป็นครอบครัว กลุ่มเพื่อน รวมถึงกลุ่มประชุมสัมมนา นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนควรดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้ผู้คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่ซึ่งน่าจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทย