จากการที่ทาง คสช.ได้ให้ความสำคัญ ในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเพื่อยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีอยู่กว่า 2.7 ล้านรายทั่วประเทศ จึงได้มีประกาศให้ สสว.มาอยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และได้อนุมัติ 4 ยุทธศาสตร์การดำเนินงานส่งเสริมและผลักดัน SMEs เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมให้เป็น 38%ภายในปี 2558 และขึ้นเป็น 50% ภายใน 10 ปี
โดยดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม(สสว.) เผยว่า แผนการดำเนิน งานเพื่อส่งเสริม SMEs นั้น ยุทธศาสตร์แรก ได้แก่ บูรณาการการบริหารจัดการของภาครัฐเพื่อส่งเสริม SMEs ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีโครงการสำคัญ คือ การจัดทำแผนส่งเสริม SMEs และส่งเสริมงบประมาณแบบบูรณาการ เพื่อเป็นแผนให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ เพราะที่ผ่านมาแผนรวมในการพัฒนา SMEs มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้น้อยมาก ทำให้แผนงานไม่เกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาส่งเสริม SMEs ได้ไม่ดีนัก ขณะเดียวกันได้มีการจัดทำฐานข้อมูล SMEs โดยจะขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ SMEs จดทะเบียนเพิ่มขึ้นในปีนี้ 50,000 ราย ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จะนำไปเป็นฐานข้อมูลเพื่อให้ภาครัฐนำไปกำหนดทิศทางนโยบายต่าง ๆ ขณะที่ SMEs เองก็สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบความสามารถในการดำเนินธุรกิจกับผู้ประกอบการรายอื่น ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันฐานข้อมูลนี้คืบหน้าแล้วกว่า 80% อีกทั้งยังมีการสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างจากของภาครัฐ โดยจะเสนอให้กำหนดสัดส่วนการซื้อจาก SMEs อย่างน้อยร้อยละ 45 ทั้งนี้ สสว.จะจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่อง ขึ้นทะเบียนการค้า และ การออกใบเสร็จให้แก่ SMEs
ดร.วิมลกานต์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ ส่งเสริมและพัฒนา SMEs ตามวงจรธุรกิจ โดยจัดตั้งศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร ใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ในรูปแบบ One Stop Service Center ซึ่งจะคัดเลือก SMEs ที่มีศักยภาพ หรือ SMEs Champion ที่ส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอีไซซ์ M และต้องการพัฒนาด้านนวัตกรรมและครีเอทีฟ เพื่อเข้ารับการส่งเสริมให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ยุทธศาสตร์ ที่ 3 คือ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการของ SMEs โดยมีโครงการ 1 มหาวิทยาลัย : 100 SMEs กับ 1 อาชีวะ : 100 SMEs ซึ่งจะสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีแก่ SMEs รวมทั้งจะจัดทำเนียบผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ SMEs ได้ใช้บริการ ส่วนยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ เชื่อมโยงเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการสนับสนุนเครือข่าย SMEs ใน 18 กลุ่มจังหวัด ซึ่งในส่วนของการค้าชายแดน จะส่งเสริมให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสะดวกในการผลิตและส่งสินค้าไปขาย ลดความเสี่ยงด้านกฎหมายของเพื่อนบ้านบางประเทศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย รวมทั้งลดขั้นตอนการเจรจาในเรื่องต่างๆ
“ ทั้งนี้กลุ่ม SMEs ที่ สสว.จะให้การส่งเสริมนั้นแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจ SMEs สาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย (High Impact Sector) ซึ่งมีอยู่ 7 กลุ่ม SMEs ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล , อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง , อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์รวมทั้งผลิตภัณฑ์พลาสติก, อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อุตสาหกรรมอัญมณีเครื่องประดับ และกลุ่มธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง โดยทั้งหมดจะพิจารณาจากมูลค่าการนำเข้าและส่งออก ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มธุรกิจ SMEs ที่มีการเติบโตสูง (High Growth Sector) ซึ่งพิจารณาจากค่า GDP ของ SMEs ที่มีเกณฑ์เติบโต 20% ติดต่อกัน 3 ปี โดยมีทั้งหมด 12 กลุ่ม SMEs ได้แก่กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง, ธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์และชิ้นส่วน, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, การบริการด้านการศึกษา, พลังงาน, กลุ่มธุรกิจภาคเกษตรกรรม, ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์, กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว, ธุรกิจการบริการด้านสุขภาพ, กลุ่มธุรกิจด้าน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT), อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และธุรกิจเครื่องสำอางและสมุนไพร ซึ่งโดยเฉลี่ยSMEsจะมีการเติบโตอยู่ที่ 4% ฉะนั้น SMEs ที่เติบโตได้ 20% ถือว่าเก่งมาก บางกลุ่มโตถึง200% นั่นคือ ศัลยกรรมความงาม และ R&D LAB” ดร.วิมลกานต์ กล่าว
ดร.วิมล กานต์ กล่าวต่อว่า หากสามารถผลักดัน 4 ยุทธศาสตร์ให้ขับเคลื่อนได้ จะสามารถเพิ่มสัดส่วนมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SMEs (GDP SMEs) ในปี 2558 เป็น 38% และตั้งเป้าหมายให้ GDP SMEs ขึ้นถึง 50% ภายใน 10 ปี เนื่องจากในประเทศที่พัฒนาแล้ว GDP SMEs จะอยู่ที่ 50% ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยก้าวเป็นประเทศ High Income Economy SMEs ไทยจึงจำเป็นต้องใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การทำแบรนดิ้ง และการส่งออกมากขึ้น เพื่อเติบโตต่อไปอย่างก้าวกระโดด