ธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปี 2557 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2558 จะมีผู้โดยสารสายการบินโลว์คอสต์เดินทางมายังสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นสนามบินหลักและรองของประเทศ รวมทั้งสิ้น 29.22-30.63 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24-30
แม้ว่าในปี 2557 ที่ผ่านมาธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ของไทยจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมือง จนทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย แต่จากสถานการณ์นี้ส่งผลให้ผู้โดยสารภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างคึกคัก ภาพรวมของสายการบินโลว์คอสต์ของไทยจึงได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย โดยจำนวนผู้โดยสารของสายการบินโลว์คอสต์ที่เดินทางมาใช้บริการยังสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ย. 2557 มีจำนวนกว่า 16.67 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 20.28 โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 6.05 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 1.17 และผู้โดยสารภายในประเทศ 10.62 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 34.8
ทั้งนี้การแข่งขันของผู้ประกอบการสายการบินโลว์คอสต์ของไทยมีความเข้มข้นขึ้นในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมีการแข่งขันขยายเส้นทางการบินไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ๆ โดยเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร ประกอบกับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดในหลายภูมิภาค ทำให้สายการบินโลว์คอสต์มีเส้นทางการบินจุดหมายปลายทางภายในประเทศครอบคลุมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บางสายการบินยังมีบริการเที่ยวบินเชื่อมต่อด้วยรถโค้ชหรือเรือเฟอร์รี่ไปยังเมืองสำคัญที่ไม่มีสนามบินเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร ซึ่งขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มปริมาณผู้โดยสารให้แก่สายการบินด้วย ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางยอดนิยมเติบโตขึ้น อาทิ จำนวนผู้โดยสารภายในประเทศของสายการบินโลว์คอสต์ของไทยที่เดินทางไปยังสนามบินกระบี่ ในไตรมาส1-3 ของปี 2557 มีจำนวนกว่า 0.76 ล้านคน หรือเติบโตกว่าร้อยละ 95
สำหรับในช่วงปี 2558 คาดว่า ธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ของไทยมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่น่าจับตามองอีกประการคือการขยายเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ซึ่งน่าจะขยายตัวจากกระแสการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่จะส่งผลให้เกิดการเดินทางระหว่างกันในภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเปิดเสรีการบินอาเซียนซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านเส้นทางการบินและความถี่ของเที่ยวบินระหว่างกันของประเทศสมาชิกลง นอกเหนือจากนี้ การแข่งขันขยายเส้นทางการบิน และเพิ่มเที่ยวบิน รวมถึงการจัดโปรโมชั่นทางด้านราคาของการบินโลว์คอสต์ลองฮอล์ (Low Cost Long Haul) ของไทย ซึ่งถือเป็นเซ็กเมนต์ใหม่ น่าจะช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ของไทยเติบโตเพิ่มขึ้นอีกในปี 2558 โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
-
การเปิดเสรีการบินอาเซียน… กระตุ้นการขยายเส้นทางการบินระหว่างกันในภูมิภาค ซึ่งสำหรับในปี 2558 นี้ คาดว่าจะมีความคืบหน้าของสมาชิกอาเซียนประเทศอื่นๆ ในการให้สัตยาบันลงนามพิธีสารมากยิ่งขึ้น ในส่วนของประเทศไทยเองได้มีความคืบหน้าโดยล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบการให้สัตยาบันลงนาม พิธีสารชุดที่ 7 และ 8 ภายใต้กรอบความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการบริการเดินอากาศ ซึ่งจะอนุญาตให้ประเทศสมาชิกอาเซียนถือหุ้นในธุรกิจการบินไทยได้ไม่เกินร้อยละ 51 และ 70 ตามลำดับ ดังนั้น น่าจะส่งผลให้สถานการณ์ของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ในปี 2558 เติบโตขึ้นไปอีก
-
สายการบินโลว์คอสต์ลองฮอล์ (Low Cost Long Haul) เซ็กเมนต์ใหม่เพิ่มจำนวนผู้โดยสารโลว์คอสต์ระหว่างประเทศ ธุรกิจโลว์คอสต์ของไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่น่าจับตามองอีกประการคือ ธุรกิจสายการบิน โลว์คอสต์ลองฮอล์ ที่ให้บริการการบินระยะกลาง (5-6 ชั่วโมง) และระยะไกล (มากกว่า 6 ชั่วโมง) นับเป็นการให้บริการทางบินระยะกลาง-ไกลโดยสายการบินโลว์คอสต์เป็นครั้งแรก นอกเหนือจากเดิมที่มีบริการเฉพาะสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Airline) นอกจากนี้ สายการบินโลว์คอสต์ลองฮอล์ของไทยยังได้มีแผนขยายเส้นทางการบินในปี 2558 ประกอบกับการที่จะมีผู้ให้บริการสายการบินโลว์คอสต์ลองฮอล์มากกว่าหนึ่งรายนั้น น่าจะก่อให้เกิดการแข่งขันจัดโปรโมชั่นทางด้านราคา และการพัฒนาการให้บริการเพื่อดึงดูดผู้โดยสาร ดังนั้น จึงคาดว่าการเพิ่มเซ็กเมนต์ใหม่ของธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ลองฮอล์ จะช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจสายการบินโลว์
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2558 ธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารสายการบินโลว์คอสต์เดินทางมายังสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นสนามบินหลักและรองของประเทศ รวมทั้งสิ้น 29.22-30.63 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24-30 (Y-o-Y) จากจำนวนผู้โดยสารที่น่าจะขยายตัวจากการเปิดเสรีการบินอาเซียน และสถานการณ์ของสายการบินโลว์คอสต์ลองฮอล์ (Low Cost Long Haul) ของไทยที่คึกคัก ทั้งนี้ จากสถานการณ์ตลาดการบินโลว์คอสต์ที่คึกคักดังกล่าว ทำให้สายการบินต่างๆ ต้องหากลยุทธ์ที่หลากหลายมาใช้ในการแข่งขัน โดยพบว่าผู้ประกอบการมีการทำการตลาดผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อสาธารณะต่างๆ รวมถึงมีการร่วมมือกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวในการจัดทำแพคเกจตั๋วเครื่องบินร่วมกับห้องพักโรงแรม หรือการให้บริการรถยนต์ให้เช่าที่สามารถรับรถได้ที่สนามบิน เป็นต้น ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้เล่นรายใหม่ที่จะก้าวเข้ามาในธุรกิจสายการบินโลว์คอสต์ นอกจากนี้ ผลของการแข่งขันที่ดุเดือด ยังก่อให้เกิดประเด็นท้าทายที่สายการบินที่อยู่ในตลาดโลว์คอสต์ควรจับตามอง อาทิ ความพร้อมทางด้านบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบินซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝน การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การแข่งขันทางด้านราคาที่ร้อนแรง อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงการปรับตัวของสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Airline) ที่เข้ามาแข่งขันทางด้านราคาในขณะที่ยังคงเน้นการให้บริการ ผ่านรูปแบบสายการบินที่ให้บริการกึ่งเต็มรูปแบบ (Light Premium Airline) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแข่งขันที่เข้มข้น น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้โดยสารให้มีทางเลือกในการเดินทางทางอากาศ และได้รับบริการที่ดีขึ้นจากการพัฒนาประสิทธิภาพของสายการบินเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทาง ทั้งเพื่อวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยว ติดต่อธุรกิจ และประชุมสัมมนา อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจอื่น อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ได้รับอานิสงค์ตามไปด้วย