ผู้ประกอบการอัญมณี อาหาร ยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ เตรียมเฮ อินเดียศักยภาพสูง


อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมอาหารไทย อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องตกแต่งบ้าน มีแนวโน้มการเติบโตในตลาดอินเดีย จากพฤติกรรมดั้งเดิม ประกอบกับค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงจำนวนประชากรชนชั้นการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปีหน้า 2558 จะมีการเปิดการค้าเสรีอาเซียน โอกาสหนึ่งที่คนไทยจะสามารถขยายการตลาดได้อย่างกว้างขว้างมากขึ้น ประเทศหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้ประกอบการ คงหนีไม่พ้นประเทศที่รุ่งเรืองอย่าง “อินเดีย”  โดยถือได้ว่าในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาประเทศอินเดีย ได้มีการเร่งพัฒนาความสัมพันธ์กับอาเซียนมาโดยตลอด ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ จนนำไปสู่การลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ ระหว่างอาเซียนและอินเดีย ในปี 2546 ทำให้ดูเหมือนการค้ากับอินเดียจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น

จากข้อมูลการค้าระหว่างประเทศไทยและอินเดียในปี 2556 (มกราคม-มิถุนายน) คิดเป็นมูลค่ารวม 4,570.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกจากไทย 2,620.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ -2.19  และไทยนำเข้าจากอินเดีย 1,959.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบในด้านดุลการค้า จำนวน 650.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจากนี้ประเทศอินเดียยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 10 และเป็นคู่ค้าสำคัญเป็นอันดับที่ 16 ของไทย โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปยังอินเดีย ได้แก่ เม็ดพลาสติก มูลค่า 248.0 ล้าน (USD) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มูลค่า 235.5 ล้าน (USD) เคมีภัณฑ์ 225.0 ล้าน (USD)  อัญมณีและเครื่องประดับ 212.1 ล้าน (USD)  เครื่องยนต์สันดาบภายในแบบลูกสูบ 171.2 ล้าน (USD)  รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 140.9 ล้าน (USD)  เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง 138.2 ล้าน (USD)  เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 129.9  ล้าน (USD)  เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 81.0 ล้าน (USD)  ผลิตภัณฑ์พลาสติก 79.3 ล้าน (USD)

ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอินเดีย ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ 353.0 ล้าน (USD)  เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 289.3 ล้าน (USD)  พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช 270.3 ล้าน (USD)  เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 177.6 ล้าน (USD)  เคมีภัณฑ์ 150.7 ล้าน (USD)  ส่วนประกอบและ อุปกรณ์ยานยนต์ 119.8 ล้าน (USD)  ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม 69.4 ล้าน (USD)  สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์ 57.3 ล้าน (USD)  ด้ายและเส้นใย 54.9 ล้าน (USD)  น้ำมันสำเร็จรูป 40.3 ล้าน (USD)  

จากข้อมูลข้างต้นอุตสาหกรรมไทยที่มีศักยภาพพร้อมในการค้าการลงทุนกับอินเดีย ได้แก่

  • อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกเป็นลำดับต้น ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประเทศไทยได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงมีความชำนาญตลอดกระบวนการผลิต ตลอดจนมีทักษะ และฝีมือประณีต ชิ้นงานได้รับความไว้วงาใจด้านคุณภาพ รวมไปถึงชาวอินเดียมีค่านิยมในการนำอัญมณีและเครื่องประดับมาประดับร่างกาย และเก็บสะสม ตลาดอินเดียจึงยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อันเป็นช่องทางที่จะสร้างโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมของไทยได้ในระยะยาว
  • อุตสาหกรรมอาหารไทย ซึ่งมีความได้เปรียบทางด้านการผลิต และมีประสบการณ์การค้าในตลาดโลกมาเป็นเวลายาวนาน ขณะที่อินเดียเองก็มีความต้องการบริโภคสินค้าอาหารเป็นจำนวนมาก และขณะเดียวกัน อินเดียได้ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทยของตนเองด้วย เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นภายในประเทศ โดยอินเดียมีความพร้อมทางด้านปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะไก่และกุ้ง รัฐบาลของอินเดียจึงได้มีมาตรการสนับสนุนการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารโดยบทบาทสำคัญของรัฐบาลในการสนับสนุนมีทั้งด้านการยกเว้นและลดหย่อนภาษีเครื่องจักรและวัตถุดิบและการตั้งเตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการส่งออก
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย มีโอกาสเติบโตในตลาดอินเดีย  เนื่องจากจำนวนประชากรของอินเดียที่มีจำนวนมาก ทำให้มีความต้องการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์อยู่ในระดับสูง รวมทั้งอุตสาหกรรมของอินเดียเองก็ให้การสนับสนุนและมีคลัสเตอร์การผลิต ส่งผลให้มีความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์เป็นจำนวนมากและผลิตไม่เพียงพอ จึงต้องมีการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ และต้องการส่งเสริมการลงทุนจากเอกชนไทย เพื่อให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี
  • อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องตกแต่งบ้าน จากจำนวนประชากรชนชั้นกลางของอินเดียมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และค่านิยมในเรื่องของความหรูหรา ส่งผลให้การตกแต่งที่อยู่อาศัยอย่างหรูหรามีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่นิยมเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งภายในบ้านให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้แนวโน้มความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับตกแต่งบ้านจะมีการขยายตัวขึ้น ดังนั้นอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องตกแต่งบ้านของไทยจึงมีแนวโน้มที่จะเติบโตในตลาดอินเดียได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะได้รับโอกาสอย่างเต็มที่ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ และการตีโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้แตก สำหรับหน่วยงานภาครัฐเป็นเพียงองค์กรหนึ่งที่ช่วยในการเอื้อความสะดวกเท่านั้น ดังนั้นผู้ประกอบการควรพัฒนาตนเอง พร้อมทั้งศึกษากลุ่มเป้าหมายอย่างลึกซึ้ง เพื่อเปิดโอกาสของตนเองให้สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ในอินเดียได้อย่างรุ่งเรือง