ถ้าถามผมว่า หลักฮวงจุ้ยสามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานที่ ทุกประเทศทั่วโลกได้หรือเปล่า ผมตอบตรงนี้ได้เลยว่า “ใช้ได้ครับ” ใช้ได้อย่างแน่นอน เพราะหลักฮวงจุ้ยอิงเรื่องของธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าที่ไหนในโลกก็สามารถนำวิชานี้ไปวิเคราะห์ได้
แต่การนำวิชาฮวงจุ้ยไปใช้วิเคราะห์กับสถานที่ต่างๆ ย่อมต้องเข้าใจไว้เสมอว่า การใช้จะผันแปรไปตามสภาพแวดล้อมจริงของสถานที่นั้น ไม่ใช่ยึดบทบัญญัติหรือข้อห้ามแบบตายตัว เพราะแต่ละที่ย่อมมีสภาพที่แตกต่างกันไป
“ฮวงจุ้ยสอนเรื่องหยิน-หยาง หรือกฎแห่งความสมดุล กฎนี้นำไปใช้ในประเทศไหนก็ได้ แต่ที่สำคัญคนนำไปใช้จะต้องเปิดกว้างไม่ใช่ยึดหลักฮวงจุ้ยแบบตายตัว เพราะถ้าทำแบบนั้น จะไม่สามารถใช้ได้เลย อย่าลืมว่า วิชาฮวงจุ้ยถูกคิดค้นขึ้นมาในประเทศจีน ข้อบัญญัติต่างๆจะถูกกำหนดขึ้นมาโดยอาศัยข้อมูลของจีนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชัยภูมิ ภูมิอากาศ และวิถีชีวิตของคนจีน”
ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ การวิเคราะห์ฮวงจุ้ยในประเทศจีน กับประเทศไทย จะมีความแตกต่างกันหลายจุดหลายประเด็นด้วยกัน บางข้อบัญญัติไม่สามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้ เพราะไม่เหมาะสม แต่ข้อบัญญัตินั้นจะเหมาะกับประเทศจีน จุดนี้เป็นจุดที่ผู้ศึกษาวิชาฮวงจุ้ยจะต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษในการนำกฎเกณฑ์บางข้อมาใช้ เช่น กฎเกณฑ์ในเรื่องของรูปทรงบ้าน ที่ตำราฮวงจุ้ยบอกว่า บ้านทรงขาแมลง (ใต้ถุนสูง) ถือเป็นรูปทรงต้องห้ามในทางฮวงจุ้ย ควรจะใช้รูปทรงบ้านแบบสี่เหลี่ยมเต็มติดพื้นถึงจะดี
ถ้าวิเคราะห์ในประเด็นนี้ รูปทรงของบ้านทรงไทยก็ถือว่าผิดหลักฮวงจุ้ยอย่างยิ่ง คนที่ศึกษาฮวงจุ้ยเพียงแค่จดจำข้อบัญญัติ ก็จะฟันธงลงไปเลยว่า บ้านทรงไทยไม่ดี ผิดหลักฮวงจุ้ย อยู่แล้วไม่เจริญ แต่ถ้าเป็นคนที่ศึกษาแบบเข้าถึงหลักวิชาก็จะมองว่า บ้านทรงไทย เป็นรูปทรงที่เหมาะกับเมืองไทยที่สุด โดยให้เหตุผลว่า เมืองไทยเป็นเมืองร้อน การสร้างบ้านรูปทรงสูงโปร่งจะรับลมธรรมชาติได้ดี ทำให้บ้านเย็นสบาย ส่วนรูปทรงบ้านแบบติดพื้น ก็จะเหมาะกับเมืองจีนที่มีลมหนาวพัดเข้าสู่บ้านเกือบตลอดทั้งปี การที่ตำราบอกว่า บ้านทรงโปร่งสูงเป็นขาแมลงไม่ดีก็ถือว่าถูกต้องแล้ว ไม่ได้ผิดข้อบัญญัติอะไร แต่เป็นข้อบัญญัติที่ใช้กับเมืองจีนเท่านั้น ส่วนข้อบัญญัตินี้ ถ้านำมาใช้กับเมืองไทยก็ถือว่าไม่เหมาะ เพราะถ้าสร้างแบบเตี้ยทึบ ทำให้ลมไม่เข้าบ้าน อาจก่อผลเสียมากกว่า
การนำหลักฮวงจุ้ยมาใช้อย่างเข้าใจ จะต้องนำปัจจัยที่แตกต่างกันมาวิเคราะห์ให้ได้เสียก่อน อย่างกรณีที่ยกมา ปัจจัยที่แตกต่างกัน ก็คือเรื่องของอากาศ เมืองไทยกลัวร้อน เมืองจีนกลัวหนาว เพราะฉะนั้น จะนำหลักมาใช้แบบตายตัวจึงไม่ได้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายกรณีที่เข้าข่ายแบบเดียวกัน ผู้ที่ศึกษาวิชาฮวงจุ้ยจึงจำเป็นจะต้องเข้าใจในประเด็นนี้ให้มาก …
อ.มาโนช ประภาษานนท์
ผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ย
Mobile : 081-841-2865
Line ID : manoch2502