อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แต่ยังไม่ใช่สัญญาณเงินฝืด


ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลง ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือน ธ.ค. 2557 ชะลอตัวลงมาที่ร้อยละ 0.6 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในไตรมาสที่ 1 /2558 สถานการณ์เงินเฟ้อจะผ่อนคลายลง และมองว่าดัชนีเงินเฟ้อที่ลดลงต่ำนี้ยังไม่ถึงขึ้นที่จะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด

อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 2557 ลดลงต่ำที่สุดในรอบกว่า 5 ปี ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน ธ.ค. 2557 ซึ่งมีทิศทางชะลอลงตามที่คาด มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 62 เดือนที่ร้อยละ 0.60 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 1.26 ต่อปี  ในเดือน พ.ย. 2557 โดยราคาน้ำมันในประเทศที่ลดต่ำลงตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงปลายปี 2557 และการปรับตัวลงของราคาอาหารสด ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนธ.ค. 2557 ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 1.69 ต่อปี จากร้อยละ 1.60 ต่อปีในเดือนที่ผ่านมา

                สำหรับภาพรวมในปี 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.89 ชะลอลงจากร้อยละ 2.18 ในปี 2556 ขณะที่ ค่าเฉลี่ยของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2557 ขยับขึ้นมาที่ร้อยละ 1.59 จากร้อยละ 1.00 ในปี 2556

ทั้งนี้มุมมองต่อสถานการณ์เงินเฟ้อของไทย เกิดจากตัวแปรทางด้านอุปทานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความกังวลต่อปริมาณอุปทานส่วนเกินในตลาดน้ำมันโลก (ซึ่งเอื้อให้ราคาขายปลีกน้ำมันในกลุ่มเบนซินและดีเซลลดลง แม้จะมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันไปด้วยในเวลาเดียวกัน) และปริมาณผลผลิตทางการเกษตรในประเทศที่เข้าสู่ตลาดค่อนข้างมากในช่วงปลายปีตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ซึ่งมีผลทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดลดลง

ศูนย์วิจัยกสิกร คาดว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 1/2558 ไทย สถานการณ์เงินเฟ้อของไทยจะยังคงผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ การปรับตัวลงของค่าไฟฟ้า Ft ในงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2558 อีก 10.04 สตางค์ต่อหน่วย และการส่งผ่านต้นทุนผู้ผลิตมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภคซึ่งยังคงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ประเมินว่า ภาพรวมของราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ

รวมถึงตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจอยู่ในระดับต่ำกว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานตลอดทั้งไตรมาสแรกของปี 2558 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในรายเดือนน่าจะอยู่ต่ำกว่าระดับร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 1.2 ต่อปี เพียงเล็กน้อย แต่ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงผ่อนคลายลง ถือว่าเปิดพื้นที่ให้ธปท. สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อช่วยประคองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยให้กลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ท่ามกลางภาวะทิศทางการส่งออก และความคืบหน้าของการเบิกจ่ายเม็ดเงินของภาครัฐ ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

อนึ่ง แม้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมองว่า สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ได้เป็นสัญญาณที่สะท้อนความเสี่ยงของภาวะเงินฝืด เพราะทิศทางราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และเครื่องชี้การบริโภคของไทย ยังน่าจะค่อนข้างทรงตัว-ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งย่อมจะทำให้สถานการณ์ของไทยในขณะนี้ มีความแตกต่างไปจากสถานการณ์ของยูโรโซนและญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ลดต่ำลง พร้อมๆ กับภาวะชะงักงันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ