สศอ. ชี้ช่องเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ช่วยลดต้นทุนสินค้าได้มากยิ่งขึ้น


สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ช่องเก็บเกี่ยวการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ของอุตสาหกรรมไทย อาทิ สินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เครื่องหนัง ยา ไฟฟ้า เป็นต้น โดยกระตุ้นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีการใช้สิทธิไม่ถึง 50% ทั้งภาคนำเข้าและส่งออกให้สูงขึ้น และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์ในระดับที่สูงอยู่แล้วให้เต็มที่ 100% ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนสินค้าให้มากยิ่งขึ้น

 

          นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ผศอ.) เปิดเผยว่า            จากการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ                  ภาคอุตสาหกรรมไทยมาอย่างต่อเนื่องนั้น สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ติดตามการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้วของไทย จำนวน 11 ฉบับ กับ 15 ประเทศ คือ 1) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน 2) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย 3) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น 4) ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย ในกลุ่มสินค้าเร่งลดภาษี (Early Harvest) 5) ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างไทย-เปรู 6) ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่าง ไทย-นิวซีแลนด์ และ     7) ความตกลงการค้าเสรีระหว่าง ASEAN กับประเทศคู่เจรจาต่างๆ อีก 5 ฉบับ ได้แก่ 1. จีน 2. อินเดีย 3. ญี่ปุ่น    4. เกาหลีใต้ และ 5. ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ครอบคลุมสาขาอุตสาหกรรม จำนวน 17 สาขา (ยานยนต์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า อาหาร      อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และเฟอร์นิเจอร์ เซรามิค เยื่อกระดาษ/กระดาษ/สิ่งพิมพ์ ปูนซีเมนต์ ยา และปิโตรเคมี)

          ซึ่งจากผลการติดตามในปีที่ผ่านมา พบว่าปี 2556 ประเทศที่ไทยส่งออกสินค้า โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA ในภาพรวมต่ำมาก ได้แก่ เมียนมาร์ (ร้อยละ 7.4) กัมพูชา (ร้อยละ 5.7) และ สปป.ลาว (ร้อยละ 3.8) ผู้ส่งออกจึงมีโอกาสอีกมากในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการส่งออกสินค้า

          โดยหากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า กลุ่มสินค้าที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA ในปี 2556 อยู่ในระดับต่ำและไม่ถึง 50% ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 19.3) เหล็ก/เหล็กกล้า (ร้อยละ 22.5) เครื่องหนัง (ร้อยละ 31) ยา (ร้อยละ 35.9) เครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 37.2) ปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 41.1) กระดาษ (ร้อยละ 41.9) สิ่งทอ (ร้อยละ 43.1) และอาหาร (ร้อยละ 45.3)

          สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงแต่ไม่เต็ม 100% ได้แก่ พลาสติก (ร้อยละ73.3) ไม้และเฟอร์นิเจอร์ไม้ (ร้อยละ 71.3) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 68.7) เครื่องนุ่มห่ม (ร้อยละ 64.9) และชิ้นส่วนยานยนต์ (ร้อยละ 52.4)

          นอกจากนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิฯ สูงข้างต้น ยังมีสินค้าในกลุ่มอีกหลายชนิดที่สามารถใช้โอกาสเก็บเกี่ยวประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ในการส่งออกไปประเทศต่างๆ ได้อีก ซึ่งหากผู้ประกอบการ   มีการใช้สิทธิประโยชน์เต็มที่ 100% จะสามารถประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้ามีต้นทุนลดลง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน คือ

          1. สินค้าที่ส่งออกไปจีน ได้แก่ กล้องถ่ายโทรทัศน์, กล้องถ่ายภาพดิจิตอล, กล้องถ่ายบันทึกวีดิโอ, ข้าวขัดสี,

ยางคอมพาวด์, มอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังไม่เกิน 37.5 วัตต์

          2. สินค้าที่ส่งออกไปมาเลเซีย ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์และอื่นๆ

          3. สินค้าที่ส่งออกไปลาว เช่น น้ำมันเบาและสิ่งปรุงแต่ง, น้ำมันปิโตรเลียมอื่นๆ เป็นต้น

          นายอุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้า โดยมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในปี 2556 ภายใต้ FTA ในภาพรวมอยู่ในระดับไม่สูงนัก ได้แก่ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 45.2) สิงคโปร์ (ร้อยละ 42.8) และอินเดีย (ร้อยละ 39.1) โดยในส่วนของประเทศอาเซียนนั้น การนำเข้าจากเมียนมาร์มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์อยู่ในระดับต่ำมาก     เพียงร้อยละ 2.1 โดยหากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม จะพบว่าอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA    ในปี 2556 ของผู้นำเข้าในกลุ่มอัญมณี (ร้อยละ 13) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 36) เครื่องจักรกล (ร้อยละ 40.8) เครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 42) ไม้/เฟอร์นิเจอร์ไม้ (ร้อยละ 44.4) และพลาสติก (ร้อยละ 46.2) ซึ่งเห็นว่ายังมีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในระดับไม่สูงนัก และไม่ถึง 50%

          สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงแต่ไม่เต็ม 100% ได้แก่ เหล็ก/เหล็กกล้า (ร้อยละ 72.6) ยานยนต์ (ร้อยละ 71)  เซรามิก (ร้อยละ 69.9) เครื่องนุ่มห่ม (ร้อยละ 68.5) อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 66.2) ยาง (ร้ยอละ 65.7) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 65.1) ยา (ร้อยละ 65.4) กระดาษ (ร้อยละ 63.4) และเครื่องหนัง (ร้อยละ61.7) 

          นอกจากนี้ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้สิทธิฯ สูงข้างต้น ยังมีสินค้าอีกหลายชนิดที่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ในการนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ได้อีก ซึ่งหากผู้ประกอบการมีการใช้สิทธิประโยชน์เต็มที่ 100% จะสามารถประหยัดภาษีเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้ามีต้นทุนลดลง และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน คือ

          1. สินค้าที่นำเข้าจากจีน ได้แก่ เครื่องจักรกลและเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ,ของอื่นๆ ที่ทำด้วยเหล็กและเหล็กกล้า

          2. สินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่น ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์, เครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า

          3. สินค้าที่นำเข้าจากเกาหลี ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของตัวถังสำหรับรถกระบะ รถยนต์

          โดยหากดูการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้กรอบอาเซียน (AFTA) พบว่าปี 2556 ภาคส่งออก ไทยมีอัตราการใช้สิทธิร้อยละ 41 ขณะที่ภาคนำเข้า ไทยมีอัตราการใช้สิทธิร้อยละ 52.6 ซึ่งอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AFTA ของภาคส่งออกในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยังมีสินค้าสินค้าอุตสาหกรรมหลายกลุ่มที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ต่ำ  เช่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรกล ยาง เซรามิก อัญมณี อาหาร สิ่งทอ กระดาษ ซีเมนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยา เครื่องหนัง เหล็กและเหล็กกล้า และอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ภาคนำเข้า สินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่ม ไม้/เฟอร์นิเจอร์ไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล  อัญมณี ยังมีอัตราการใช้สิทธิต่ำ ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ข้างต้น จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยที่ยังมีการใช้ประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ในระดับที่ต่ำอยู่หรือไม่สูงนัก ให้มาใช้ประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้ประโยชน์ ในระดับสูงอยู่แล้ว ให้มาใช้สิทธิประโยชน์เต็มที่ 100% ซึ่งก็จะสามารถประหยัดภาษีเพิ่มขึ้นและลดต้นทุนสินค้าได้อีกเป็นจำนวนมาก