จากการพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (EU) ที่เปราะบางอย่างมาก ผสานกับการแข็งค่าของเงินบาทต่อเงินยูโรเมื่อเทียบกับค่าเงินด่องของเวียดนามและค่าเงินรูเปี๊ยะห์ของอินโดนีเซีย ทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง และเป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ทุกรายการสินค้าจาก EU
ในปี 2558 โจทย์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีปลายทางสินค้าเป็นสหภาพยุโรป (EU) ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแรงอย่างใกล้ชิด ซึ่งล่าสุดความกังวลที่กรีซอาจจะออกจากกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร หรือยูโรโซน หากได้รัฐบาลใหม่ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการรัดเข็มขัดจะส่งผลต่อแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซน ตลอดจนปมการเมืองที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียกับ EU ล้วนเป็นโจทย์ที่อาจฉุดเศรษฐกิจ EU ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจ EU อาจเติบโตเพียงร้อยละ 1.1 ในปี 2558 ชะลอลงจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 ในปี 2557 นอกจากนี้ ประเด็นการอ่อนค่าของเงินยูโรที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ยังทำให้สินค้าต่างประเทศมีราคาแพงขึ้นในสายตาผู้บริโภค EU ซึ่งภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP (Generalised System of Preferences) จาก EU ทุกรายการสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ยิ่งซ้ำเติมให้สินค้าไทยต้องแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ทวีความท้าทายต่อผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไทยในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตเพื่อต้านทานผลของอัตราแลกเปลี่ยนรวมทั้งผลของอัตราภาษีที่เปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งไทยถูกตัดสิทธิ GSP จาก EU เป็นหนึ่งในชนวนซ้ำเติมการส่งออกของไทย สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้ไทยสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่ต่ำกว่า 252 ล้านดอลลาร์ฯ เพราะการส่งออกสินค้าไทยที่เข้าสู่ EU จะมีราคาเพิ่มขึ้นจากการกลับมาเก็บภาษีในอัตราปกติ หรือ MFN (Most Favoured Nation) หมายความว่าสินค้าไทยอาจแข่งขันทางด้านราคาลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศที่ยังได้รับสิทธิ GSP จาก EU อาทิ เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อต้นปี 2557 สินค้าไทยบางรายการได้ถูกตัดสิทธิ GSP จาก EU ไปแล้ว ซึ่งอยู่ในกลุ่มเนื้อปลาแปรรูป อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่สินค้ารายการสำคัญที่ยังใช้สิทธิและกำลังจะถูกตัดสิทธิในปี 2558 ได้แก่ ยานยนต์ขนส่ง เครื่องปรับอากาศชนิดติดผนัง/หน้าต่าง เลนส์แว่นตา ยางนอกรถยนต์ เครื่องปรับอากาศแบบไม่มีหน่วยทำความเย็น เครื่องปรับอากาศแบบทำความร้อนและความเย็น รถจักรยานยนต์ขนาด 500-800cc และถุงมือยาง เป็นต้น โดยในภาพรวมแล้วสินค้าส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP คิดเป็นร้อยละ 39 ของการส่งออกไปยัง EU ทั้งหมด และการส่งออกสินค้าภายใต้สิทธิ GSP ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่า 6,724 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 1.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การหดตัวดังกล่าวไม่เพียงตอกย้ำความอ่อนแรงของตลาด EU ยังทำให้ตระหนักว่าสินค้าไทยแม้ได้รับสิทธิ GSP ก็เริ่มสูญเสียศักยภาพทางการแข่งขันไปบ้างแล้วในเวลานี้
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อต้านทานการแข่งขันในระยะข้างหน้าโดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก อาทิ กลุ่มเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า อาหารทะเลแปรรูปขั้นต้น และอาหารแปรรูป เป็นสินค้าที่สิทธิ GSP ช่วยลดภาระภาษีให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา การกลับมาเสียภาษีในอัตราปกติจึงเพิ่มภาระทางภาษีแบบก้าวกระโดดส่งผลอย่างมากต่อผู้ประกอบการ ประกอบกับต้องแข่งกับสินค้าจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP ที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันและได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคใน EU ทำให้สินค้าไทยมีแนวโน้มจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปได้อย่างรวดเร็ว สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบปานกลางถึงน้อย ประกอบด้วยยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ/ส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้า เตาอบ และเลนส์ เป็นกลุ่มที่การกลับมาเก็บภาษีปกติเป็นอัตราที่ไม่สูงไปกว่าอัตราที่เคยเสียภายใต้สิทธิ GSP เท่าใดนัก และสินค้าไทยยังมีศักยภาพโดดเด่นในการทำตลาด กระนั้น สินค้าอย่างยางพาราและผลิตภัณฑ์อาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านราคาที่ถูกกดดันจากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกส่งผลเชิงลบต่อผู้ประกอบการ
ปัญหาเศรษฐกิจ EU ค่าเงินยูโร และการสิ้นสุด GSP กดดันสินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่งหากพิจารณาถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยไปยัง EU นั้น ประเด็น GSP อาจถือเป็นปัจจัยรอง ที่มีความสำคัญน้อยกว่าทิศทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ EU และทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยในปัจจุบันเมื่อเทียบกับยูโรที่แข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 15.3 จากต้นปี 2557 อันเป็นอัตราที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งทางการค้าของไทยในตลาด EU ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยถดถอยลงกว่าประเทศอื่นโดยเฉพาะคู่แข่งที่ได้สิทธิ GSP ทั้งอินโดนีเซีย และเวียดนามที่เพิ่งประกาศลดค่าเงินด่องลงร้อยละ 1 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกสินค้าของเวียดนาม
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเด็นศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยอาจยิ่งเผชิญบททดสอบมากขึ้นในระยะต่อไป หลังจากพบว่า แม้ในช่วงที่ไทยยังไม่ถูกตัดสิทธิ GSP การส่งออกสินค้าไป EU ของประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ได้รับสิทธิ GSP อย่างเช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ก็ยังสามารถส่งออกสินค้าเข้าไปยังตลาด EU ได้มากกว่าและมีอัตราการเติบโตที่ดีกว่าไทยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา
ดังนั้น จากสารพัดปัจจัยลบดังกล่าวทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผู้ประกอบการไทยไม่เพียงจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าเพื่อรักษาตลาด EU เท่านั้น ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 3-4 ที่เกิดจากอัตราภาษีและผลของค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นต้นอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะมีความเสี่ยงที่ EU จะหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่นที่มีราคาสินค้าต่ำกว่าได้โดยง่าย อาทิ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ไก่แปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ เคมีภัณฑ์ อาหารทะเล เป็นต้น ขณะที่ผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าด้วยโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการต้นทุนระหว่างประเทศจึงน่าจะปรับตัวได้มากกว่า อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนการส่งออกของไทยไป EU ในภาพรวมปี 2558 อาจจะขยายตัวเข้าใกล้กรอบล่างของประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.5 โดยลดลงจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2557 อีกทั้ง จะต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินยูโรในระยะข้างหน้าหากทรุดตัวลงไปอีก อาจฉุดให้การส่งออกของไทยไป EU ปี 2558 หดตัวอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
ทั้งนี้ แม้ว่าปี 2558 จะเป็นช่วงเริ่มแรกที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP จาก EU ซึ่งสินค้าไทยยังมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำตลาดได้ และยังมีช่องทางอื่นที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ อาทิ กรณีที่ธุรกิจไทยมีสาขาการผลิตในต่างประเทศ ผู้ประกอบการอาจจะให้ความสำคัญกับการขยายห่วงโซ่ธุรกิจในประเทศไทยควบคู่กันไป เพื่อเสริมให้ธุรกิจเดิมมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งในรูปแบบการจัดตั้งเป็นกิจการการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centers: ITC) เพิ่มบทบาทจากการเป็นผู้ผลิตไปเป็นผู้รวบรวมสินค้าที่ผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วทำการส่งออกไปยัง EU หรือ การจัดตั้งกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) เพื่อดูแลกิจการหรือสาขาการผลิตในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้ประโยชน์ตามมาโดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ และสร้างการจ้างแรงงานในภาคบริการ ขณะที่ธุรกิจที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย ผู้ประกอบการไทยก็ยังมีโอกาสได้รับการยกเว้นภาษีภายใต้นโยบาย Autonomous Tariff Suspension อันจะเอื้อประโยชน์ต่อสินค้าหลายรายการของไทย ซึ่งผู้นำเข้าฝั่ง EU จะต้องเป็นผู้ขออนุญาตนำเข้าต่อ European Commission
ดังนั้น หากไทยสามารถกลับมาเร่งรัดเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thailand-EU FTA) จนบังคับใช้ได้สำเร็จ ก็น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้สินค้าไทยได้สิทธิประโยชน์ชดเชยสิทธิ GSP ที่สูญเสียไป ขณะที่ผู้ประกอบการไทยควรเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง