Smart SME Day ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ แก่ SME ไทย


กลุ่มบริษัท พีเพิลมีเดีย และพันธมิตร ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมสร้างประวัติศาสตร์แห่งการเสริมศักยภาพที่รอบด้านแก่ SME ไทย ให้มีความเข้มแข็งในระดับสากล ในงาน Smart SME Day “รวมพลังพันธมิตรหนุน SME ไทย” ในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

 

Smart SME Day จะเป็นการ “สร้าง” และ “เสริม” ความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการ SME ไทย ผ่าน 5 กลุ่มธุรกิจที่จะสนับสนุนและตอบโจทย์ความต้องการของ SME อย่างครบวงจร โดย Hi-Light สำคัญ คือ การปาฐกถาพิเศษ ของ ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย … ก้าวไกลด้วยพลัง SME” และเสวนา “พลังพันธมิตรหนุน SME ไทย” ทั้งของภาครัฐ และเอกชน อาทิ กระทรวง ICT สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED)  คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ หรือคุณทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร แห่งกลุ่มเซ็นทรัล เป็นต้น

 

โดยคุณณรินณ์ทิพ วิริยะบัณฑิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท พีเพิลมีเดีย เห็นถึงความสำคัญของ SME ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย จึงได้จัดงาน Smart SME Day ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสร้างเครือข่ายและเสริมความเข้มแข็งอย่างรอบด้าน แก่ SME ไทย ภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ที่มีบทบาทสนับสนุนและส่งเสริม SME ไทย

 

ซึ่งการจัดงาน Smart SME Day ครั้งนี้ ถือเป็นการตอบสนองนโยบายสนับสนุน SME ไทย ของกระทรวงพาณิชย์ โดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง Smart SME Day ที่ถือเป็นส่วนสำคัญของการตอบสนองนโยบายการส่งเสริม SME ของกระทรวงพาณิชย์และรัฐบาล ในการสร้างเครือข่ายระหว่าง SME และวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการส่งเสริมและสนับสนุน SME ไทย ให้มีความเข้มแข็งขึ้น

 

นอกจากนี้ ภายในงาน Smart SME Day ยังประกอบด้วยการเสวนาในหัวข้อที่ต่างๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งมีสาระสำคัญ (ในช่วงเช้า) โดยสังเขป ดังนี้

พลังพันธมิตรหนุน SME ไทย (ภาครัฐ)

ดำเนินการเสวนา โดย ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ (กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ C ASEAN) ได้ให้โอกาสแก่ผู้บริหาร และตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ได้กล่าวถึงบทบาทด้านการส่งเสริมและสนับสนุน SME ซึ่งมีสาระโดยสังเขป คือ

  • ดร.มนู อรดีดลเชษฐ์ (ที่ปรึกษา ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)

หลังจากเปิด AEC แล้ว บทบาทด้านการสนับสนุน SME ของกระทรวงไอซีที จะยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลต้องการให้ภาคเอกชนใช้ดิจิตอลเทคโนโลยีภายในองค์กรทั้งระบบ ซึ่งเทคโนโลยีจะสร้างความเข้มแข็งด้านการแข่งขันแก่เอกชนได้

  • ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ (รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย)

ในปัจจุบันสถาบันฯ มุ่งการศึกษาวิจัยที่จะสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและสัมคมมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากภาคการเกษตร รวมถึง การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ของสถาบันฯ ให้แก่ภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ โดยสถาบันฯ จะทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้ในระยะเริ่มต้น และส่งเสริมการพัฒนาระบบคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการ SME ให้ได้รับมาตรฐานระดับสากล

  • ดร.เพชร์ ชินบุตร (ผู้อำนวยการ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม)

สถาบันอาหาร มีบทบาททั้งในการส่งเสริมการตลาดให้ผลิตภัณฑ์อาหารของผู้ประกอบการ SME ไทย เป็นที่รู้จักและจัดจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้ พร้อมกับการเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาด้านการปรับปรุงคุณภาพลิตภัณฑ์อาหารให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ภายใต้การประสานงานระหว่างผู้ประกอบการ SME กับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

  • คุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล (ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ISMED)

ISMED ทราบเป็นอย่างดีถึงจุดแข็งของ SME ไทย คือ การมีความมุ่งมั่น ดังนั้น ISMED จึงจะทำหน้าที่เสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการ SME มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับโครงสร้างของสังคมในปัจจุบันและอนาคต ที่จะส่งผลถึงสภาพตลาด รวมถึง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ ISMED ยังได้ร่วมกับ สสว. พัฒนาโครงการ SME Internationalization ที่ประกอบด้วยเครื่องมือต่างๆ ครบวงจร เพื่อการยกระดับให้ SME ไทยก้าวสู่สากล รวมถึง การกระตุ้นและส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการแก่บุคลากรไทย

  • คุณสาลินี วังตาล (ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย)

นอกจากบทบาทหลักด้านการให้บริการสินเชื่อแก่ SME แล้ว ปัจจุบัน SME Bank ยังได้เริ่มบทบาทในการเป็น Venture Capital โดยการเข้าไปร่วมลงทุนในวิสาหกิจที่มีศักยภาพ แต่ขาดแคลนเงินทุน เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่ SME

ซึ่งบทบาทดังกล่าว จะมีความชัดเจนและศักยภาพมากขั้น เมื่อธนาคารได้ร่วมลงทุนใน Venture Capital Fund กับกระทรวงการคลัง ที่จะใช้เงินจากกองทุน เพื่อการเข้าร่วมลงทุนกับ SME ที่มีศักยภาพได้เพิ่มมากขึ้น

  • คุณชาติชาย พยุหนาวีชัย (ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน)

ธนาคารออมสิน ได้กำหนด Position ของธนาคารให้เป็น Nano หรือ Micro Finance สำหรับ SME ขนาด 20 – 30 ล้านบาทลงมา และเพิ่มบริการด้าน Factoring ที่จะอำนวยความสะดวกแก่ SME หรือแม้แต่วิสาหกิจชุมชนให้มีความคล่องตัวทางการเงินเพิ่มขึ้น

 

พลังพันธมิตรหนุน SME ไทย (ภาคเอกชน)

ในหัวข้อดังกล่าว ยังคงดำเนินการเสวนา โดย ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์ (กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ C ASEAN) ซึ่งได้สอบถามถึงบทบาทด้านการส่งเสริมและสนับสนุน SME ไทย ขององค์กรภาคเอกชนต่างๆ ที่ได้เข้าร่วามเสวนา อาทิ คุณชาติศิริ โสภณพนิช และคุณทศ จิราธิวัฒน์ เป็นต้น

  • คุณชาติศิริ โสภณพนิช (กรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน))

ธนาคารกรุงเทพ ให้ความสำคัญกับ SME มาโดยตลอด ตั้งแต่คำขวัญ “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ถึงปัจจุบัน คือ “Bualuang Smart SME” ซึ่งนอกจากการสนับสนุนด้านสินชื่อแก่ SME แล้ว ทางธนาคารยังให้การสนับสนุน SME ทั้งในด้านองค์ความรู้ รวมถึง การให้คำปรึกษาด้านการค้าการลงทุน และการสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศแก่ SME อีกด้วย

  • คุณทศ จิราธิวัฒน์ (ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด)

การสนับสนุน SME ของกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งแน่นอนว่าเรามุ่งเน้นการให้การสนับสนุนด้านสถานที่จัดจำหน่าย และทรัพยากรต่างๆ แก่ SME มาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังให้ธุรกิจของ SME เติบโตได้ พร้อมกับกลุ่มเซ็นทรัล เช่น การเติบโตของสุกี้ เอ็มเค

  • ว่าที่ รอ.จิตร์ ศิรธรานนท์ (กรรมการรองเลขาธิการ หอการค้าไทย)

หอการค้าไทย มีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุน และส่งเสริม SME ในด้านการเป็นแหล่งรวม และเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต่อ SME และต้องการให้ SME ไทย ใช้ประโยชน์จาก e-Commerce และ e-Marketplace ให้มากและเป็นประโยชน์ขึ้น

  • คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ (ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย)

บทบาทของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จะมีความคล้ายคลึงกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือหอการค้าไทย แต่สมาพันธ์จะทำหน้าที่รวบรวมและสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือ และร่วมมือ ระหว่างผู้ประกอบการ SME รายย่อย รวมถึง การเป็นตัวแทนแก่ผู้ประกอบการ SME ให้มีสิทธิและเสียงในการต่อรองบนเวทีต่างๆ เพิ่มขึ้น

  • คุณศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล (ประธาน สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อุตสาหกรรมการผลิต)

มีความเห็นว่า รัฐควรยกระดับการส่งเสริมหรือสนับสนุน SME ให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทและหน้าที่ดังกล่าว จะได้เข้าร่วมขับเคลื่อน SME อย่างเป็นระบบ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการผลักดันให้ SME ไทย สามารถไปสู่ตลาดสากลได้เพิ่มมากขี้น เพื่อให้ SME มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงระดับร้อยละ 50 ของ GDP ประเทศไทย

 

 Smart SME Day จึงนับได้ว่าเป็นการสร้างปรากฎการณ์ใหม่แก่ SME ไทย โดยกลุ่มบริษัท พีเพิลมีเดีย และพันธมิตรต่างๆ ที่มุ่งหวังให้ Smart SME Day เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน โดย SME ไทย