แม่สอด-เมียวดีโมเดล ต่อยอดโอกาสธุรกิจในอินเดีย-บังคลาเทศ


คุณสรกิจ มั่นบุปผชาติ ประธานคลัสเตอร์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการบริหารสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต หรือ SMI กล่าวว่า แม่สอด-เมียวดีโมเดล นับว่ามีความสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถต่อยอดสินค้าเข้าบังคลาเทศและอินเดียได้

“แม่สอด-เมียวดี พื้นที่แถบพม่าตอนกลางเป็นพื้นที่ที่กำลังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และน่าสนใจ มีคนต่างชาติไปอยู่ที่ตรงนั้นจำนวนมาก ตลาดเริ่มโตขึ้น แต่จำนวนประชากรแถบนั้นไม่เยอะพอ จุดมุ่งหมายใหญ่ของการเข้าไปพื้นที่พม่าตอนกลาง คือการต่อยอดสินค้าเข้าบังคลาเทศและอินเดีย การเข้าจากพื้นที่แถบนั้นไปสู่อินเดีย คือ รัฐ 7 สาวน้อย ที่ตั้งอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย จัดเป็นรัฐที่มีกำลังซื้อเพราะคนมีเงิน แถบนั้นมีคนอินเดียที่หน้าตาคล้ายกับคนไทย การพูดจาบางทีมีสำเนียงหรือศัพท์บางอย่างที่เป็นไทย จึงชื่นชมสินค้าจากประเทศไทย ดังนั้นการเปิดเส้นทางขนส่งสินค้าแม่สอด-เมียวดี วิ่งไปทางตะวันตก จึงเป็นโอกาสตลาดที่ใหญ่มาก” คุณสรกิจ กล่าว

สำหรับภาพรวมการทำธุรกิจในพม่านั้น คุณสรกิจ กล่าวว่า หนึ่ง ต้องเลือกหาพาร์ทเนอร์ที่ดี ต้องรู้ข้อมูลว่าพาร์ทเนอร์ทำธุรกิจประเภทใดบ้าง ธุรกิจมีความมั่นคงมากน้อยแค่ไหน มีเงินพอที่จะขยายกิจการกับเราหรือไม่ สอง ระบบบัญชีและกฏหมาย ขอให้ผู้ประกอบการปรึกษาที่ปรึกษากฏหมาย ทำระบบบัญชีให้ได้มาตรฐานและเรียบร้อย ซึ่งปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษากฏหมายของไทยก็ได้เปิดสำนักงานในพม่า ดังนั้นจึงอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยทำงานได้ง่ายขึ้น

ประธานคลัสเตอร์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เวลาไปทำธุรกิจในพม่า หนึ่ง ต้องทำความเข้าใจวิธีทำการค้าของพม่า ซึ่งไม่เหมือนประเทศไทย เวลาที่เราอยู่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของไทยจะค้ากับจังหวัดอื่นเป็นเรื่องง่าย แต่ที่พม่าเป็นจุดๆไป ไม่ได้หมายความว่าจะกระจายสินค้าไปได้ทั่วไปหมด สอง เวลาทำงานกับคนพม่า สไตล์การทำงานกับคนพม่า ความเข้าใจอย่างที่เราคิด เขาไม่เข้าใจ ต้องใช้เวลาในการสอน แต่คนพม่าสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี”