เส้นทางสายไหม สายสัมพันธ์เชื่อมโยงเศรษฐกิจจีน-อาเซียน


เส้นทางสายไหมฟื้นคืนชีพ ผู้นำระดับสูงของจีน ให้ความสำคัญการใช้ช่องทางเส้นทางสายไหมเป็น Soft Power Diplomacy ในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกของประเทศจีน  เปิดโอกาสผู้ประกอบการไทยในเวที AEC

               ยุคแห่งการค้าเสรี การแข่งขันสูง ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมองหาช่องทางการตลาด กว้างขว้างมากขึ้น เส้นทางสายไหมเป็นเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นช่องทางที่สามารถเชื่อมต่อการค้าออกสู่ต่างแดนเชื่อมต่อความสัมพันธ์การทูต และเส้นทางแห่งวัฒนธรรม ในศตวรรษที่ 21 นายสีจิ้นผิง ประธานาธบดีของประเทศจีนได้เลือกใช้เส้นทางสายไหมทางทะเล เพื่อใช้เป็น Soft Power Diplomacy ในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านบวกของประเทศจีน

               เมื่อผู้นำระดับสูงของจีนได้ส่งสัญญาณชัดเจนในเรื่องของการใช้เส้นทางสายไหมทางทะเล เพื่อเชื่อมโยงอาเซียน รัฐบาลมณฑลจีนที่เกี่ยวข้องก็ขานรับ หลายเมืองและหลายมณฑลชายฝั่งของจีนที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหมทางทะเลในประศาสตร์ เช่น เมืองจ้านเจียงในมณฑลกวางตุ้ง รวมทั้งเมืองเฉวียนโจวในมณฑลฝูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) ซึ่งในประวัติศาสตร์จีนเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ตั้งแต่ครั้งที่มาร์โคโปโล นักเดินเรือชื่อดังชาวอิตาลีได้เดินทางถึงจีน และต่อมา เขาได้ลงเรือที่เมืองเฉวียนโจว เพื่อเดินทางกลับไปยัง เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในขณะนี้ รัฐบาลฝูเจี้ยนจึงได้ชูประเด็นเส้นทางสายไหมทะเล เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง

               จีนจึงเริ่มเดินหน้าผลักดันเส้นทางสายไหมทางทะเลอีกครั้ง ซึ่งเปรียบเสมือนคัมภีร์สำคัญที่ผู้นำทั้งสองของจีนต้องนำไปหยิบยกเผยแพร่เพื่อหาแนวร่วมในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการเยือนอินเดีย และหลายประเทศในเอเชียใต้ของประธานาธิบดีสิจิ้งผิง ช่วงเดือนกันยายน 2557 ดังนั้น ความพยายามในการสร้างและปลุกคืนชีพเส้นทางสายไหมทางทะเลอีกครั้ง จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขยายผลประโยชน์ระหว่างจีนกับประเทศที่รายรอบจีน รวมทั้งภูมิภาคอาเซียน ในกรณีของอาเซียน แนวคิดนี้ยังสอดรับกับการผลักดันของผู้นำจีนในการจัดตั้งกองทุน China-ASEAN Maritime Cooperation Fund วงเงิน 3 พันล้านหยวน เพื่อสร้างความร่วมมือทางทะเลระหว่างจีนกับเพื่อนอาเซียน เช่น การวิจัยทางทะเลและปกป้องสิ่งแวดล้อม การเดินเรือเพื่อความปลอดภัย การเชื่อมโยงเส้นทางเดินเรือ การค้นหาและการใช้ความช่วยเหลือ ตลอดจนการต่อสู้กับภัยคุกคามข้ามชาติ เป็นต้น

               แน่นอนว่าผู้ประกอบการไทยย่อมได้รับผลดีจากการปลุกคืนชีพเส้นทางในครั้ง เพราะจะเป็นเส้นทางสู่ในการนำสินค้าออกสู่ประเทศจีนอีกเส้นทางหนึ่ง ประเทศจีนเป็นประเทศที่น่าลงทุนในการส่งออกอันดับต้น ๆ ของไทย เนื่องจากประชากรที่มีจำนวนมาก ระยะทางที่ใกล้กัน และวัฒนธรรมมีความคล้ายเคียงกัน  อีกทั้งไทย-จีนเป็นคู่ค้าที่มีสายสัมพันธ์อันดีกันมาโดยตลอด การค้าไทยในจีน จึงถือเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการไทย ที่จะส่งออกสินค้าผ่านเส้นทางสายไหมนี้ต่อไป