กำลังซื้ออ่อนแอ ตรุษจีน 58 คาดไม่คึกคัก


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด การจับจ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนของคนเมือง ปี 2558 จะเติบโตร้อยละ 3.5 ใกล้เคียงกับตรุษจีนปีก่อน เนื่องจากปัจจัยหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพยังคงสูง เพราะราคาน้ำมันปรับลดลง ยังส่งผ่านไปถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นกับการครองชีพ

ค่าครองชีพสูง และหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง กดดันค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้คนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลตรุษจีน ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2558 แม้ว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อช่วงเดือนมกราคม 2558 ปรับลดลง และเป็นที่คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อันสะท้อนถึงระดับราคาสินค้าทั่วไปที่ชะลอตัวลง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าครองชีพและภาระค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนของคนไทยยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากผลของราคาพลังงานโดยเฉพาะไฟฟ้าและน้ำมันที่ปรับลดลง ยังส่งผ่านไปไม่ถึงสินค้าจำเป็นที่เกี่ยวกับการครองชีพ อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้ากลุ่มอาหาร ทั้งที่ปรุงเองที่บ้านและที่ซื้อตามร้านอาหารทั่วไป ขณะเดียวกัน ภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ กลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ค่าโดยสารรถสาธารณะ ค่าก๊าซหุงต้ม ก๊าซ NGV รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและเล่าเรียนบุตร เป็นต้น

จากปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ จึงยังเป็นแรงกดดันต่ออารมณ์ใช้จ่ายของคนไทยเชื้อสายจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้พอสมควร โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า บรรยากาศของเทศกาลตรุษจีนปี 2558 มีความคล้ายคลึงกับปี 2552 ซึ่งราคาน้ำมันปรับลดลงจนทำให้ภาวะเงินเฟ้อติดลบ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2552 หดตัวร้อยละ 2.3 ซึ่งในปี 2552 ค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ช่วงเทศกาลตรุษจีนของคนกรุงเทพฯ ก็ขยายตัวต่ำเพียงร้อยละ 2.2 

สำหรับเทศกาลตรุษจีนในปี 2558 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยอาจให้ภาพของการเติบโตดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อที่จำกัด ผนวกกับมุมมองต่อรายได้ในระยะข้างหน้าซึ่งให้ภาพที่ชะลอตัว  ทำให้ภาคประชาชนยังคงเน้นประหยัดและระมัดระวังการใช้จ่ายต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เนื่องจากการเซ่นไหว้ในเทศกาลตรุษจีนถือเป็นประเพณีที่ทำสืบต่อกันมา เพื่อไหว้บรรพบุรุษและเทพเจ้า และเพื่อเป็นสิริมงคลของครอบครัว อีกทั้งเป็นค่าใช้จ่ายที่มีเพียงปีละครั้ง ด้วยเหตุนี้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จึงยังคงมีอยู่ แต่มีแนวโน้มที่คนกรุงเทพฯ จะควบคุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมเกี่ยวกับเครื่องเซ่นไหว้ตรุษจีนในปี 2558 ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเทียบกับปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด เม็ดเงินค่าใช้จ่ายเครื่องเซ่นไหว้ของคนกรุงเทพฯ ในช่วงตรุษจีนปี 2558 จะอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.5 ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ในขณะที่งบประมาณเฉลี่ยในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้อยู่ที่ครัวเรือนละ 3,750 บาท เทียบกับ 3,590 บาทในปีที่ผ่านมา

ด้านราคาสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ก่อนเทศกาลตรุษจีนปี 2558  ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจากปริมาณผลผลิตที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์ อาทิ หมู ไก่และไข่ ส่วนกลุ่มกระดาษไหว้เจ้าและธูปเทียน น่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว ในขณะที่กลุ่มผลไม้ราคาค่อนข้างทรงตัว อย่างไรก็ตาม โดยปกติราคาสินค้าสำหรับเครื่องเซ่นไหว้ มักจะปรับสูงขึ้นเมื่อเข้าใกล้เทศกาลตรุษจีน โดยเฉพาะช่วงวันจ่าย  ประมาณร้อยละ 10-15 ดังนั้น จึงคาดว่าราคาเครื่องเซ่นไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ น่าจะไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมามากนัก ยกเว้นเนื้อหมู ซึ่งในปี 2557 ที่ผ่านมาราคาอยู่ในระดับค่อนข้างสูง โดยราคาขยับขึ้นไปเฉลี่ย 150-155 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่น้อย ส่วนในปีนี้ผลผลิตมีเพิ่มขึ้นทำให้ราคาปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 125-130 บาทต่อกิโลกรัม

โดยจากการสำรวจ พบว่า กว่าร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกซื้อสินค้าเครื่องเซ่นไหว้จากตลาดสดใกล้บ้านในสัดส่วนมากที่สุด (ร้อยละ 60.7) เนื่องจากสะดวกไม่ต้องฝ่าการจราจรที่ติดขัด รองลงมาได้แก่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (ร้อยละ 46.4) และตลาดเยาวราช (ร้อยละ 14.3) ตามลำดับ ประเด็นที่น่าจับตา พบว่า พฤติกรรมการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ตามร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความสะดวกในการเดินทางและที่จอดรถ และมีสินค้าเครื่องเซ่นไหว้ที่ครบถ้วนในที่เดียว

นอกจากกิจกรรมการเซ่นไหว้แล้ว กิจกรรมที่กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่กรุงเทพฯ นิยมทำในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2558 จากผลสำรวจเชิงคุณภาพโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย อันดับหนึ่งคือ การทำบุญไหว้พระตามวัดหรือศาลเจ้าต่างๆ  รองลงมาคือ การเยี่ยมญาติ และการพักผ่อนอยู่บ้าน ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากการใช้จ่ายของคนไทยเชื้อสายจีนแล้ว แต่ละครอบครัวมักจะมีการแจกอั่งเปาแก่บุตรหลาน รวมถึงเงินที่นายจ้างแจกให้กับลูกจ้างตามประเพณี โดยกลุ่มที่ตอบแบบสอบถาม มีการแจกอั่งเปาถึงร้อยละ 62.5 จากจำนวนผู้ตอบทั้งหมด และมีค่าใช้จ่ายด้านอั่งเปาเฉลี่ยคนละ 8,500 บาท ซึ่งเม็ดเงินที่ตกแก่ผู้รับอั่งเปา ส่วนหนึ่งนอกจากการเก็บออมหรือใช้หนี้แล้ว บางส่วนจะถูกกระจายไปสู่ภาคธุรกิจต่างๆ  

ดังนั้น ในช่วงเทศกาลตรุษจีนจึงเป็นช่วงที่ภาคธุรกิจต่างๆ สามารถกระตุ้นให้ประชาชนสนใจออกมาใช้จ่ายเงินมากกว่าช่วงปกติ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเพียงช่วงระยะสั้นๆ แต่การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม ก็น่าจะช่วยให้ธุรกิจสะสมยอดขายในช่วงต้นปี เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในช่วงที่เหลือของปีได้ระดับหนึ่ง โดยผู้ประกอบการอาจเลือกใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเพื่อสร้างความคุ้มค่าให้กับสินค้า ควบคู่ไปกับกลยุทธ์การสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการทั้งทางด้านรูปแบบ คุณค่าการใช้สอย และความเป็นสิริมงคล

ประเด็นที่น่าจับตาสำหรับเทศกาลตรุษจีนปีนี้ก็คือ  กลุ่มลูกหลานชาวจีนรวมทั้งพนักงานลูกจ้างบริษัทที่ได้รับอั่งเปา ถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่พร้อมจ่ายสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ และมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจใช้จ่ายเงินตามความพึงพอใจ ดังนั้น จึงน่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายสำคัญที่ผู้ประกอบการผลิตสินค้าและบริการควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและการสื่อสาร เป็นต้น

ทั้งนี้ แม้ว่าภาพการจับจ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนอาจดูไม่คึกคักมากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเป็นวันทำงานของมนุษย์เงินเดือน พนักงานออฟฟิศ และไม่ใช่วันหยุดราชการ อีกทั้งคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทยก็เป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกับกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานในเทศกาลวาเลนไทน์ซึ่งตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่การมาถึงของเทศกาลตรุษจีนที่ต่อเนื่องจากเทศกาลวาเลนไทน์ ก็นับเป็นจังหวะในการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของภาคธุรกิจภายใต้งบประมาณที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคประชาชนในช่วงสั้นๆ ได้ ซึ่งหลังจากผ่านพ้น เทศกาลในช่วงต้นปีนี้ไปแล้ว คงจะต้องติดตามว่าภาคประชาชนจะกลับมามีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและนำมาสู่การใช้จ่ายที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ได้ตามที่คาดหวังหรือไม่