กสิกรคาด ไทยเที่ยวไทยช่วยพยุงเศรษฐกิจ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ปี 2558 คนไทยจะมีเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศจำนวนประมาณ 148.5 ล้านคน ต่อครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ทั้งนี้การท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยจะสามารถช่วยสร้างเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในไทยมูลค่าประมาณ 7.72 แสนล้านบาท

ตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นอีกตลาดที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสร้างเม็ดเงินสะพัดไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดไทยเที่ยวไทยช่วยพยุงภาพรวมการท่องเที่ยวไทยในยามเกิดวิกฤติที่ตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหดตัวลง

สำหรับทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2558 มีหลายปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทย หลายด้านไม่ว่าจะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวกันของกลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน รวมถึงกลุ่มองค์กร โดยนอกจากการทำการตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องร่วมกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสายการบินและธุรกิจโรงแรม รวมถึงสถาบันการเงิน ในปัจจุบันคนไทยยังได้รับอิทธิพลจากสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งปันรูปภาพและประสบการณ์ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่างๆ ของไทย และเมื่อประกอบกับในปี 2558 ภาครัฐมีการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวไทยภายใต้แคมเปญ “ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558” ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น แต่ก็ยังได้ให้ความสำคัญต่อการทำตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศเช่นกัน โดยเน้นประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญใน 12 เมืองต้องห้ามพลาด ได้แก่ ลำปาง น่าน เพชรบูรณ์ บุรีรัมย์ เลย สมุทรสงคราม ราชบุรี ตราด จันทบุรี ชุมพร ตรัง และนครศรีธรรมราช ปัจจัยข้างต้นล้วนเป็นแรงหนุนตลาดไทยเที่ยวไทยในปี 2558 โดยเฉพาะการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวคนไทยไปยังเมืองท่องเที่ยวรองมากขึ้น

                              สำหรับผลจากมาตรการส่งเสริม 12 เมืองต้องห้ามพลาดของภาครัฐ คาดว่าจะยิ่งช่วยหนุนบรรยากาศการท่องเที่ยวของทั้ง 12 จังหวัด อย่างไรก็ดี บางพื้นที่ที่อาจจะมีการเติบโตที่โดดเด่น เช่น น่าน เพชรบูรณ์ เลย ตรัง ชุมพร ตราด เป็นต้น ส่วนหนึ่งก็มาจากจังหวัดดังกล่าวเป็นปลายทางที่คนไทยรู้จักและนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ประกอบกับในปัจจุบันมีธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำหลายรายเปิดเส้นทางการบินและเพิ่มจำนวนเที่ยวบินไปยัง 12 เมืองต้องห้ามพลาดมากขึ้น (เช่น น่าน ลำปาง เลย นครศรีธรรมราช เป็นต้น) นอกจากนี้บางจังหวัดอย่างบุรีรัมย์ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นปลายทางท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Destination) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม และเมื่อประกอบกับมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของภาครัฐ ด้วยการนำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษีเงินได้ โดยในช่วงปลายปี 2557 ภาครัฐมีมาตรการภาษีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย  ซึ่งมีผลตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงตลอดทั้งปี 2558 โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งครอบคลุม 2 ปีภาษี คือ ปี 2557–2558 สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไป สามารถนำค่าใช้จ่ายค่าแพ็คเกจทัวร์ในประเทศหรือค่าใช้จ่ายด้านที่พัก มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มาตรการด้านภาษีมีส่วนช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศจากประชาชนทั่วไป และอาจจะก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นประมาณ 3,800 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการด้านภาษีจากภาครัฐ สำหรับมาตรการดังกล่าวยังครอบคลุมถึงกลุ่มบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีการจัดโครงการอบรมสัมมนาภายในประเทศให้แก่ลูกจ้าง ซึ่งสามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้เป็นจำนวน 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับมาตรการส่งเสริมดังกล่าวน่าจะกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยในปี 2558 มากกว่าปี 2557 เนื่องจากในปี 2557 มีผลบังคับเพียง 16 วัน       

จากปัจจัยแวดล้อมข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2558 จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวนประมาณ 148.5 ล้านคนต่อครั้ง  เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 จากที่ในปี 2557 เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 5.0 โดยจะช่วยสร้างเม็ดเงินสะพัดไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมูลค่าประมาณ 7.72 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.4 ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2557 ที่คาดการณ์ว่ามีมูลค่าประมาณ 7.05 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 โดยการขยายตัวที่โดดเด่นน่าจะมาจากการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยไปยังเมืองท่องเที่ยวในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(อีสาน) และภาคใต้ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันเกือบครึ่งของตลาดไทยเที่ยวไทยทั้งหมดในปีนี้

               อย่างไรก็ดี ภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน อาจจะส่งผลต่อพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยบางกลุ่ม ให้มีการปรับแผนการเดินทาง เช่น การเดินทางแบบเช้าไป เย็นกลับ การเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้ รวมถึงการใช้เวลาค้นหาข้อมูลต่างๆ มากขึ้น เพื่อแสวงหาโปรโมชั่นราคาค่าตั๋วเครื่องบินโดยสาร และค่าห้องพัก เป็นต้น