มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในมาเลเซีย


ดร.พิศาล จันทฤทธิรัศมี รองประธานกลุ่มเครื่องสำอางค์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมาตรการกีดกันทางการค้าแบบที่ไม่ใช่ภาษีในมาเลเซียว่ามีหลายประเด็น ทั้งเรื่องสินค้าฮาลาล, การขึ้นทะเบียนสินค้าเครื่องสำอางค์-อาหารเสริม เป็นต้น

แม้จะมีโอกาสในธุรกิจเครื่องสำอางค์-อาหารเสริมในมาเลเซีย แต่มีความเสี่ยงที่มองไม่เห็น  เช่น การขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางและอาหารเสริมในมาเลเซียไม่ใช่เรื่องง่าย โดยต้องยื่นขึ้นทะเบียนทางออนไลน์ช่องทางเดียว บางทีใช้เวลา 5-6 เดือน ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ในขณะที่ลงทุนเปิดบริษัทไปแล้ว

“บางทีเราคีย์ข้อมูลลงไป แล้วทางนู้นเขาไม่ response สุดท้ายเราต้องไปยื่นตอนเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ตีสองเวลาบ้านเรา ก็มีผ่านบ้าง แต่ผ่านบาง step ยังไม่ถึงขั้นได้ทะเบียน เรียกว่าเป็นความเสี่ยงอันหนึ่งว่า ใช้เวลา 6 เดือนแล้วก็ยังไม่ได้ทะเบียน ก็ขายไม่ได้ อาจจะเรียกว่าเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่ง” ดร.พิศาล กล่าว

ในการลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจในมาเลเซีย ผู้ประกอบการควรปรึกษาบริษัท Consultant และใช้เวลาเตรียมตัวก่อนเข้าไปลงทุนในมาเลเซียนานขึ้น อย่างน้อย 1-2ปี

“นอกจากนั้นยังมีการกีดกัน อย่างเช่นว่า เงินลงทุนขั้นต่ำ 5 ล้านริงกิต หรือ 50 ล้านบาท พอขนเข้าไป 50 ล้านบาทเขาแค่ให้จดทะเบียนบริษัทเท่านั้น นอกจากนั้น ผมต้องใช้ไลเซ่นส์ 4-5 ไลเซ่นส์ เขาจะอนุมัติทีละใบ ไม่มี one-stop service” ดร.พิศาล กล่าว

นอกจากนั้น แม้กฏหมายของมาเลเซียจะไม่ได้บอกว่าสินค้าอาหารต้องมี GMT แต่ในเชิงปฏิบัติเจ้าหน้าที่ก็ขอดู GMT อยู่ดีว่ามีมาตรฐานไหม แม้ว่าจะมีการ harmonies กฏหมายให้เหมือนกัน แต่ในเชิงปฏิบัติไม่เหมือนกัน