คุณสุธีรพันธุ์ สักรวัตร หรือ อาจารย์ตูน ที่ปรึกษาอิสระด้าน Brand Communication Digital Marketing ได้พูดถึงประเด็น “ข่าวสารบนเฟซบุ๊คที่ SME ควรรู้” ผ่านรายการข่าวค่ำทันโลกในช่วง SME Signal ว่าเครื่องมือบนเฟซบุ๊คมีเกิดขึ้นอยู่ตลอด แต่สิ่งใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นล่าสุดนั่นคือเครื่องมือที่เรียกว่า “Relevance Score” หรือเป็นดรรชนีวัดความแม่นยำต่อกลุ่มเป้าหมายของโฆษณาบนเฟซบุ๊ค ซึ่งตามปกติเมื่อมีการลงโฆษณาในเฟซบุ๊ค จะไม่มีสิ่งที่ชี้วัดว่าโฆษณานั้นๆ ทำงานเป็นอย่างไร การวัดค่าจะใช้การคาดเดาการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เช่นวัดจากจำนวนยอดไลค์ จำนวนแชร์ แล้วดูว่าโฆษณาชิ้นนั้นเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งได้ผลไม่แน่นอน เฟซบุ๊คจึงได้พัฒนาเครื่องมือ“Relevance Score” ขึ้นมา ซึ่งสามารถใช้วัดผลได้ 3 ประเด็น ได้แก่
หนึ่ง โฆษณาบนเฟซบุ๊คของคุณตรงกับกลุ่มเป้าหมายหรือไม่
สอง เมื่อมีผู้พบเห็นโฆษณา มีความสนใจเชิงบวกหรือเชิงลบ
สาม มีผู้กดปุ่ม “Hide” หรือ “ซ่อนโฆษณา” ของเราหรือไม่
เมื่อเฟซบุ๊คจับตัวเลขเหล่านี้มาประเมินผลได้ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการนำมาใช้ประโยชน์ได้ 3 แบบ ซึ่งแบบแรกคือช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพราะหากเรารู้ว่าโฆษณาตรงใจกลุ่มเป้าหมาย มีผลกับกลุ่มเป้าหมายก็จะช่วยให้โฆษณานั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องไปลงโฆษณากับกลุ่มอื่นๆ ที่เราไม่รู้จักกลุ่มเป้าหมายชัดเจน
แบบที่ 2 ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถนำมาปรับใช้ได้ นั่นคือสามารถทดลองเปลี่ยนไอเดียหลายๆ แบบได้ ทั้งการโพสต์ภาพหรือข้อความ เพราะบางครั้งเราไม่มั่นใจว่าโฆษณาแบบไหนจะโดนใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเครื่องมือนี้จะช่วยให้เราสามารถเทสต์ว่าแบบไหนที่ทำงานได้ดีกว่า แล้วจึงเลือกแนวทางนั้นๆ เพื่อให้ตรงใจกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น
แบบสุดท้าย นั่นคือ ช่วยให้ผู้ประกอบการทราบว่าได้เวลาเปลี่ยนโฆษณา (Advertising) แล้วหรือยัง วัดได้จากคะแนนที่เริ่มลดลง ซึ่งเมื่อลดลงจนถึงจุดๆ หนึ่ง นั่นเป็นสัญญานที่บอกว่าควรจะเปลี่ยนโฆษณาใหม่ได้แล้วนั่นเอง
อีกหนึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงเป็นอย่างมาก นั่นคือกรณีที่แบรนด์หลายแบรนด์ หรือเอสเอ็มอีมักจะประสบปัญหาการทำตลาดบนโซเชียลมีเดีย เนื่องจากในธุรกิจมีสินค้าหลายอย่าง หรือมีบริการหลายรูปแบบ ควรจะเปิดเฟซบุ๊คเพจกี่เพจดี ก่อนหน้านี้ผมจะตอบไปว่าขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละบริษัท องค์กรขนาดใหญ่อาจจะมีการเปิดหลายๆ เพจได้ ขณะที่เอสเอ็มอีอาจจะรวบรวมการให้บริการมาไว้ในเพจๆ เดียวเพื่อให้การบริหารจัดการสะดวกขึ้น
หนึ่งในกรณีศึกษา นั่นคือแบรนด์ธนาคารอันดับหนึ่งของไทยอย่าง ไทยพาณิชย์ หรือ SCB ที่ล่าสุดออกมาประกาศว่าจะรวมเอาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ SCB เช่น SCB Credit Card, SCB Easy Net, SCB UP2ME มาไว้ในเพจๆ เดียวภายใต้ชื่อ SCB Thailand (เอสซีบีไทยแลนด์) กรณีนี้ มีหลายคนตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีการรวมเพจ ประโยขน์ที่จะได้รับคืออะไร
อาจารย์ตูน พูดถึงประเด็นนี้ว่า ในอดีตเพจของธนาคาร จะมีการแยกเป็นการให้บริการต่างๆ กัน ซึ่งจะเกิดปัญหา ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีปัญหาเรื่องเครดิตการ์ด ก็จะติดต่อไปที่เพจที่ให้บริการเรื่องเครดิตการ์ด ขณะที่ผู้ใช้ที่ใช้บริการ Easy Net ก็จะสอบถามปัญหาการให้บริการเรื่องเครดิตการ์ดไม่ได้ นี่คือความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น
การที่ SCB Thailand รวมเอาบริการต่างๆ ไว้ด้วยกันจึงแก้ปัญหาในประเด็นเหล่านี้ได้ เพราะเป็นช่องทางที่ให้บริการแบบ One Stop Service คือบริการครบในเพจๆ เดียว ซึ่งในฐานะของนักการตลาดที่ทำตลาดบนเฟซบุ๊คมายาวนาน มองว่าการรวมพลังในเพจๆ เดียว จากเดิมที่แต่ละเพจมีผู้ติดตามอยู่หลักแสนคน หรือล้านคน แต่กระจายกันไป เมื่อมารวมตัวกันของคอนเท้นต์ต่างๆ ก็จะเกิดเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ เมื่อมีการโพสต์หรือประกาศข่าวหรือกิจกรรมต่างๆ ก็จะเกิดพลังของการรับรู้แบรนด์ที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น เป็นแนวทางที่อาจจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่กำลังตัดสินใจว่าจะใช้กลยุทธ์การทำตลาดแบบเพจเดียวหรือหลายๆ เพจ
อย่างไรก็ดี หากตอนนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังมีฐานลูกค้าไม่มาก อาจจะยังไม่ประสบปัญหามากนัก แต่เมื่อไหร่ที่ธุรกิจขยายตัวและมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอาจจะมองเห็นปัญหาเหล่านี้ และอาจจะอยากรวบรวมการให้บริการไว้ในเพจเดียวก็ได้