ค่าเงินยูโรอ่อน ทำกรีซป่วน


          ค่าเงินยูโรพุ่ง ผันผวนของ หลังกรีซประกาศยกเลิกนโยบายรัดเข็มขัด เสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของยุโรป ซ้ำเติมให้เงินยูโรอ่อนค่า หลังอีซีบีประกาศใช้มาตรการคิวอีก่อนหน้านี้ แนะผู้ส่งออกไปยุโรปบริหารจัดการความเสี่ยงค่าเงิน

          ปัจจุบันรัฐบาลกรีซยังคงเป็นหนี้กว่า 3.16 แสนล้านยูโร หรือ 11.7 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 170 ของจีดีพี โดยเจ้าหนี้รายใหญ่คือ European Financial Stability Facility (EFSF) ฝั่งเยอรมนีหนึ่งในเจ้าหนี้ของกรีซ ได้มีการส่งสัญญาณชัดเจนว่ากรีซจะต้องดำเนินการตามมาตรการรัดเข็มขัดต่อไป หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องยุติการให้ความช่วยเหลือทางด้านสภาพคล่อง อันจะส่งผลให้กรีซล้มละลายในที่สุด

           TMB Analytics คาดว่ากรีซและกลุ่มเจ้าหนี้จะสามารถประนีประนอมได้ และหากต่างฝ่ายต่างดึงดันตามที่ตัวเองต้องการจนกรีซล้มละลาย ยูโรโซนจะมีแต่เสียกับเสีย ทั้งประเทศเจ้าหนี้และกรีซเองก็จะเจ็บตัวไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การต่อรองสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ความไม่แน่นอนของยุโรโซนจึงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะถูกสะท้อนผ่านความผันผวนของค่าเงินยูโร สังเกตได้จากเมื่อสถานการณ์เป็นไปในทางบวก ค่าเงินยูโรมักจะแข็งค่าขึ้น และหากค่าเงินอ่อนตัวลง แสดงว่าสถานการณ์เป็นไปในเชิงลบนั่นเอง

          อย่างไรก็ตาม ในระยะถัดไป TMB Analytics ประเมินว่า ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าสูงมาก และแน่นอนว่าสถานการณ์ของกรีซเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เงินยูโรอ่อนค่าเป็นระยะ ๆ แต่ที่สำคัญกว่า คือการอัดฉีดสภาพคล่องหรือ QE ของธนาคารกลางยุโรป จะทำให้ค่าเงินยูโรมีทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องซึ่งถ้าค่าความผันผวนยังคงยืนอยู่ในระดับปัจจุบัน จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในยุโรป เราอาจจะได้เห็นค่าเงินยูโรแตะระดับ 35 บาทต่อยูโร ในช่วงกลางปีก็เป็นได้

          ผลกระทบโดยตรงจะเกิดกับผู้ส่งออกไปยุโรป เพราะเงินยูโรที่ได้รับจะแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลง ทำรายได้หดหาย ผู้ส่งออกจึงควรบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เช่น อาจลดธุรกรรมในรูปยูโรลงบ้าง พยายามเพิ่มธุรกรรมในเงินสกุลอื่นกับคู่ค้า หรือทำสัญญาขายยูโรล่วงหน้า เพื่อลดผลกระทบด้านลบจากความผันผวนของค่าเงินดังกล่าว