จุดเริ่มจากเจ้าของร้านขายของเก่า สู่การเป็นเจ้าของ ตลาดนัดรถไฟ


ตลาดนัดรถไฟ คงเป็นสถานที่ๆคุ้นเคยสำหรับการช็อปปิ้งและท่องเที่ยวยามค่ำคืนของใครหลายๆคน เพราะเป็นตลาดนัดที่รวบรวมสินค้าแทบจะทุกประเภทเอาไว้ในที่เดียว ชนิดที่เรียกได้ว่าไม่ต้องไปหาที่อื่น ขอเพียงมาที่นี่ก็จะได้ของถูกใจกลับบ้านไปอย่างแน่นอน

“ไพโรจน์  ร้อยแก้ว” หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในชื่อ “โรจน์” อดีตเจ้าของร้าน Rod’s  Antiqup ซึ่งเป็นร้านขายของเก่าที่อยู่ในย่านจตุจักร แต่ชาวต่างชาติต่างเรียกเขาว่า “ร็อด”  ชายร่างท้วม ผิวเข้ม ชอบพูดจาโพงผาง ตรงไปตรงมา แต่ก็มีความจริงใจกับลูกค้าทุกคน โดยคุณโรจน์ ได้เล่าถึงเส้นทางการค้าขาย จนได้มาเป็นเจ้าของตลาดนัดรถไฟ อย่างในปัจจุบันนี้ว่า

เริ่มทำธุรกิจสินค้ามือ 2 มาตั้งแต่อายุ 21 ปี ซึ่งในตอนนั้นเปิดร้านอยู่ที่ตลาดคลองถม แล้วต่อมาก็ได้ย้ายมาขายที่จตุจักรในวัย 30 ต้นๆ และนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างแท้จริง เพราะคุณโรจน์ได้ต่อยอดธุรกิจด้วยการเปิด “ตลาดนัดรถไฟ จตุจักร” ขึ้นมา ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้าม อตก. โดยเปิดเป็นตลาดนัดที่เป็นแหล่งรวมสินค้า ทั้งของใหม่และของมือ 2 ตลอดถึงของโบราณต่างๆ จนหมดสัญญาเช่า พร้อมกับทางการรถไฟ ต้องการขอคนพื้นที่  ทำให้ต้องย้าย “ตลาดนัดสวนรถไฟ” ไปอยู่ที่ศรีนครินทร์

โดยทางคุณโรจน์ บอกว่าการย้ายครั้งนี้ จะเป็นการย้ายแผงครั้งสุดท้าย เพราะที่ศรีนครินทร์มีขนาดพื้นที่ถึง 60 ไร่ สามารถรองรับพ่อค้าแม่ค้าได้เป็นจำนวนมาก โดยสามารถรองรับแผงถึง 2,000 ล็อค พร้อมทำลานจอดรถได้อีก 20 ไร่ขณะที่ตลาดนัดรถไฟจตุจักรมีพื้นที่รวมเพียง 30 ไร่

ทั้งนี้ ย่านศรีนครินทร์ ยังเป็นแหล่งรวบรวมชุมชนทั้งจากรามคำแหงและปากน้ำ ดังนั้นคนที่มาเดิน ส่วนใหญ่จึงเป็นขาประจำและคนที่อยู่ในชุมชนย่านนั้น ซึ่งทางคุณโรจน์เองตั้งใจจะสร้างให้เป็นแหล่งค้าขายถาวร โดยได้ทำสัญญาเช่า 15 ปี จากผู้เช่าเดิม

แม้จะมีการย้ายสถานที่ใหม่ แต่ชื่อ “ตลาดนัดรถไฟ” ยังคงเป็นของคุณโรจน์และสามารถนำมาใช้ต่อได้ ดังนั้นทางคุณโรจน์ จึงยังคงใช้ชื่อ “ตลาดนัดรถไฟ” อย่างเดิม เพราะคุณโรจน์มีความเชื่อมั่นว่า ถนนศรีนครินทร์ จะเป็นฐานมั่นใหม่ที่ไม่ต้องมาเสี่ยงถูกไล่หอบแผงไปหาทำเลใหม่อีกต่อไป ซึ่งในวงการค้าขาย จะเป็นที่รู้กันดีว่า “ทำเลที่ตั้งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

เพราะ มีพ่อค้าแม่ค้าหลายรายต้องวนเวียนกับการถูกไล่และขอคืนพื้นที่เป็นประจำ เพราะในอดีตคุณโรจน์ก็เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้อยู่เป็นประจำ คุณโรจน์จึงได้ฮึดสู้สร้างตลาดนัดแบบมีแผงประจำขึ้นมา เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าได้มีแหล่งในการขายแบบระยะยาว  แต่นี้ก็นับเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์หนึ่งของคุณโรจน์ เพราะระยะทางที่ไกลพอสมควร ทำให้ไม่มั่นใจว่าผู้ค้าที่เคยขายอยู่ที่ตลาดนัดรถไฟ จตุจักร จะตามมาขายหรือเปล่า

แต่เพียงไม่นาน ความกังวลในเรื่องนี้ก็ถูกทำลายไปจนหมดสิ้น เมื่อมีผู้มาเช่าล็อคในตลาดภายใน 2- 3 เดือนแรกของการเปิดตลาด โดยแบ่งเป็นแผงขายของ 1,600 ล็อค  พลาซ่า 500 ล็อค และโซนโกดัง 9 โกดัง แล้วยังมีพื้นที่สำหรับขาจรอีก 400 – 500 ราย ที่แวะเวียนเข้ามาขายเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่เป็นแรงดึงดูดทั้งผู้ซื้อและผู้ขายให้เข้ามาในตลาดนัดสวนรถไฟ ศรีนครินทร์ คือ การตกแต่งแนวคลาสสิก  สถาปัตยกรรม  มีโซนพลาซ่า ซึ่งเป็นไอเดียในการตกแต่งตามสไตล์ของคุณโรจน์เอง  ส่วนคอนเซ็ปต์คลาสสิก เป็นโซนโกดังตั้งต้นจากร้าน Rod’s Antique ของคุณโรจน์ ซึ่งเป็นการนำของเก่ามาโชว์และขาย จนกลายเป็นพร็อพไปในตัวให้คนถ่ายรูป พร้อมกันนั้นยังมีร้านขายของเก่าอีก 300 ร้าน อยู่ในโซนโกดัง 9 โกดัง

สำหรับคอนเซ็ปต์คลาสสิค และยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆในวันหยุดสุดสัปดาห์ อาทิเช่น ดนตรี งานบันเทิงรื่นเริง ซึ่งจะทำให้คนมารวมตัวที่ตลาดนัดเป็นจำนวนมาก

จากสถิติพบว่า จำนวนคนที่มาเดิน ตลาดนัดรถไฟ มีไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อวัน ทำให้มีเงินสะพัดไม่ต่ำกว่าคืนละ 7 – 8 ล้านบาท

จากการประเมินเฉพาะร้านโซนตลาดนัด 1,500 ล็อค มีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท โดยบางร้านสามรถขาดได้เป็นหมื่นจนเฉียดแสนเลยก็มี  ส่วนในด้านของการบริหารจัดการควบคุมต้นทุนที่คิดอย่างพ่อค้า อย่างน้อยใช้เวลาคืนทุน 1 ปี

โดยแบ่งรายละเอียดการใช้จ่ายเป็น 3 กอง ใน 100 บาทแบ่งเป็นค่าที่ อีก 30 ถูกใช้ไปกับงานก่อสร้าง และที่เหลือ 20 คือกำไร ค่อยๆเติมเงินไม่ใช่ลงทุนรวดเดียว 20 – 30 ล้านบาท นี่ถือเป็นวิธีในการแบ่งสัดส่วนเงินในการบริหารของคุณโรจน์

ภายใต้แนวคิดการค่อยๆเติมลงไปทีละนิด ไม่ใช่ทุ่มลงไปทั้งหมดทีเดียว นี่คือสิ่งที่ทำให้เจ้าของร้านขายของมือ 2 ธรรมดาๆ อย่างคุณโรจน์ กลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจ “ตลาดนัดรถไฟ” อันโด่งดังอย่างในปัจจุบัน

[บทความทั้งหมด] | [คลิปรายการทั้งหมด]