แข่งกับยักษ์ #2 เมื่อการตลาด…ไม่ได้เป็นแค่กิจกรรมสร้างรายได้อีกต่อไป !!! โดย อ.วีระยุทธ เชื้อไทย


     !!! ตลาดกำลังกลายเป็นของ “ผู้ซื้อ”  นี่…เราจะสร้างกำไรให้กิจการได้อย่างไร?
 
     เมื่อสินค้าชนิดเดียวกัน ในตลาดมีมากขึ้น แนวโน้มลูกค้าปัจจุบัน มีตัวเลือกมากขึ้น ทั้งในแง่ของคุณภาพ ราคา รูปลักษณ์  ตัวอย่าง สินค้ากลุ่มเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ส่วนบุคคล พวกสบู่ ยาสีฟัน โฟมล้างหน้า ครีมทาผิว ตลาดกลุ่มนี้ทางการตลาดต้องบอกเลยว่า Red Ocean ตลาดแดงเดือด แข่งขันกันทุกรูปแบบ  
 
 
     มูลค่าตลาดสินค้ากลุ่มนี้กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
 
     มูลค่ารวมตลาดเครื่องสำอางทุกเซกเมนต์ รวมกว่า 210,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นตลาดส่งออก 40% มูลค่าราว 90,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นตลาดภายในประเทศ 60% มูลค่าราว 120,000 ล้านบาทต่อปี ความใหญ่โตของมูลค่าตลาดนี้เองทำให้มีผู้สนใจกระโดดเข้าทำธุรกิจกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก พร้อมกับการแตกเซกเมนต์ ออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ อย่างหลากหลายตาม “พฤติกรรม” ผู้บริโภค
 
 
     ปัจจัยการแข่งขันจึงไม่ได้อยู่แค่ “การวางแผนตลาด”
 
     โดยทั่วไปธุรกิจมักเริ่มจากการวางแผนตลาด โดย SMEs จะทำหน้าที่ศึกษาสภาพแวดล้อม จุดอ่อนจุดแข็งของธุรกิจนำมาประมวลจัดทำแผนการตลาด แต่สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงอย่างตลาดเครื่องสำอาง การวางแผนการตลาด อย่างเดียวกลับเป็นแค่จุดเริ่มต้นของ “การเข้าเส้นสตาร์ท” ในการแข่งขันทางการตลาด  เพราะแท้จริงแล้ว “กลยุทธ์การตลาด” ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการทำตลาดกลายเป็นสิ่งสำคัญ และต้องมีความยืดหยุ่นต่อเป้าหมาย ให้ทันกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง และปัจจัยแวดล้อมทางการตลาดได้ดี ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างกลยุทธ์การตลาดที่ถูกต้องเหมาะสม  ทั้งในแง่ของ “โปรโมชั่น”  และ “การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ (IMC)”  หรือ การสร้างกิจกรรมส่งเสริมการขายที่หลากหลาย ตรงกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น  โดยปัจจุบันตลาดออนไลน์มีอัตราการเติบโตสูง จึงควรติดตามความเคลื่อนไหวของคู่แข่งในตลาดออนไลน์ และวางกลยุทธ์ในตลาดออนไลน์ เป็นสำคัญ
 
 
     เสริมทัพการตลาดด้วย Connection
 
     ในอดีตธุรกิจมีแต่การแข่งขันกันมากกว่า การสร้างพันธมิตรในธุรกิจ หรือหากต้องมีพันธมิตรจะมองแค่มิติเดียว  คือ  “พันธมิตรทางตรง” เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันซับพอร์ตรองรับกันมากกว่าที่จะ เป็นธุรกิจแบบเดียวกัน  เช่น  ธุรกิจผลิต เป็นพันธมิตรกับ ธุรกิจค้าปลีก  เป็นพันธมิตรกับ ธุรกิจขนส่ง แต่ในปัจจุบัน “พันธมิตรธุรกิจ” กินความกว้างขวางทั้งในมิติทางตรง และทางอ้อม  ซึ่งจะมีทั้งผูู้ผลิตในสินค้าชนิดเดียวกัน  เพื่อสร้างขีดความสามารถในการรับคำสั่งซื้อให้สูงขึ้น พันธมิตรจากหน่วยงานรัฐ ที่ทำให้กิจการได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากภาครัฐ   พันธมิตรจากสถาบันการศึกษา ซึ่งจะทำให้กิจการมีต้นทุนต่ำในการวิจัยและพัฒนาสินค้า หรือสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม  สิ่งสำคัญคือ SMEs ควรบรรจุความเชื่อมโยง Connection นี้ไว้ใน business model  ใครคือผู้มีส่วนสนับสนุนกิจการ และเริ่มจัดเวลาออกไปพบปะ ร่วมเรียน ร่วมสัมมนา หรือประชุมกับเครือข่ายเหล่านี้ โดยมีเป้าหมายชัดเจนตาม business model  เพื่อ “สร้างโอกาส” สนับสนุนกิจการ
 
     การตลาดจึงไม่เป็นแค่เพียง กิจกรรมการสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว
 
     การจัดการธุรกิจยุค Digital จึงเป็นศาสตร์ที่มี “พลวัตร” มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ  วันนี้คุณรู้จักเพื่อนเพิ่มขึ้นหนึ่งคน  เพื่อนคนนี้อาจเป็นคนที่ช่วยสร้างโอกาสให้ธุรกิจเราในวันข้างหน้า  รู้จักการบริหารจัดการเครือข่ายด้วยเครื่องมือ Social Media ซึ่งจะทำให้คุณมีต้นทุนในการบริหารจัดการเครือข่ายสนับสนุนกิจการในทุกมิติด้วยต้นทุนต่ำ  และยังสามารถพัฒนาให้กลายเป็นช่องทางสนับสนุนกิจการอย่างทรงพลังได้อีกด้วย
 
                                                                                                                                 อ.วีระยุทธ  เชื้อไทย
                                                                                                                   ที่ปรึกษาการตลาด  SMEs Start Up
                                                                                                                                 www.facebook.com/SmeMeFan