การขายอย่างมั่นใจ โดย ทนายอำพล รัตนมูสิก


     ท่านผู้ที่เป็นนักลงทุนทุกท่านครับ  ในครั้งที่แล้วท่านนักลงทุนได้รู้การกู้ยืมเงินนอกระบบอย่างเป็นระบบ     ซึ่งเป็นการรับรู้รายได้อีกทางหนึ่ง  คราวนี้ท่านจึงควรจะได้รับรู้เรื่องรายได้ทางตรงของกิจการเสียที ในภาวการณ์ปัจจุบันยุคแห่งสีสันนี้  กับการขายมันค่อนข้างจะคาดเดายากว่าจะดีได้เมื่อไรทุกวันนี้ยอดสั่งซื้อมักจะลดลงตามที่ทราบกัน  แน่นอนว่าใครก็ตามที่ได้รับยอดสั่งซื้อมากๆแล้วมักจะตื่นเต้น  และจะตั้งใจผลิตสินค้าหรือให้บริการแก่ลูกค้าของตนอย่างดี โดยมักจะไม่ตรวจสอบคู่ค้าของเรามากมายนักเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ลูกค้าอึดอัดใจ  แต่อย่างไรก็ดีท่านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำต้องรู้ถึงกฎหมายเกี่ยวกับการขายบ้างเพื่อจะได้บรรเทาความเสียหายได้ทันท่วงทีหากเกิดความเสียหายกรณีมีการผิดนัดชำระหนี้ขึ้น
 
     อันดับแรกการซื้อขายที่ใคร่อยากจะนำเสนอให้ทำความเข้าใจคือ การซื้อขายสินค้าและให้บริการต่างๆ  กฎหมายบัญญัติเรื่องการซื้อขายสินค้าทั่วไปไว้ว่า การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ( ทรัพย์ที่เราสามารถจัดการให้มันเคลื่อนที่ได้)  ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาทหรือกว่านั้น  การซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือ  มีการวางมัดจำ  หรือมีการชำระหนี้บางส่วน  จึงจะนำคดีเหล่านี้ขึ้นสู้ศาลให้บังคับเอากับผู้ผิดสัญญาได้   หมายความว่าผู้ขายหรือผู้ซื้อก็ดีเมื่อเกิดกรณีเบี้ยวกัน  ฝ่ายที่จะไปบังคับอีกฝ่ายต้องมีหนังสือไปแสดงศาล   หลักฐานการวางเงินมัดจำ   หรือหลักฐานการชำระหนี้บางส่วน  หากไม่มีก็ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาได้   เอาละเราเช่นนี้แล้วเราจะทำอย่างไรกับการขายของเราบ้าง  ขอแนะนำว่าให้ใช้ได้ทุกกรณีไม่ว่าการทำเป็นหนังสือ   วางเงินมัดจำ   หรือการชำระหนี้บางส่วน  แล้วแต่สถานการณ์จะอำนวย     แต่เราควรจะวางแบบการขายของเราไว้ให้มั่นคงซักอย่าง  เช่น  เราต้องมีใบสั่งซื้อเป็นแบบฟอร์มทั่วไปของร้านเราเพื่อให้ทุกคนที่เป็นลูกค้าของเราได้ทราบทั่วกัน  เอกสารการสั่งซื้อนี้จึงควรบอกให้คู่ค้าของเรานำเอกสารที่เราสมควรรู้มาแสดงเพื่อประกอบการสั่งซื้อเป็นการมัดมือชก  เหมือนเช่นธนาคารพาณิชย์ทั่วไปเขาทำกับเรา    ใบส่งสินค้าก็สำคัญถือเป็นหนังสือตามกฎหมายด้วยนำไปแสดงต่อศาลได้   ความเป็นจริงเราควรคำนึงว่าหากมีเอกสารประกอบมากสามารถนำไปเป็นประโยชน์ได้ทั้งสิ้น   ส่วนหากมีการวางเงินมัดจำเราในฐานะผู้ขายก็สมควรที่จะออกหลักฐานให้ลูกค้าเช่นกัน
 
     ปัจจุบันนี้การขายมักจะมีเรื่องผิดสัญญากันบ่อยๆทำให้เกิดคดีที่ศาลต่างๆมากมาย   เหตุที่เบี้ยวกันส่วนใหญ่แน่นอนมักจะเป็นเรื่องเงิน    อย่างว่านะครับเรื่องเงินมันสำคัญอยู่แล้วแต่ไม่ร้ายเท่ากับการที่เราได้เปิดช่องทางให้เขาเบี้ยว  เช่น  ส่งของแล้วไม่มีผู้เซ็นชื่อรับสินค้า   หรือเซ็นชื่ออ่านไม่ได้ความว่าชื่ออะไร    ไม่เก็บเอกสารต้นฉบับไว้ส่งให้เขาหมดเลยตอนวางบิลส่งของ   หรือกรณีหนังสือเขียนระบุไว้ชัดแจ้งว่าผู้ลงชื่อต้องเป็นผู้มีอำนาจแต่เรายินยอมให้บุคคลอื่นลงชื่อแทนอย่างนี้เขาจะไม่เบี้ยวแล้วเชียวดันเปิดช่องว่างให้เห็นก็สบาย   เขาไม่จ่ายเพราะถือว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายหรือกฎหมายบังคับให้เขาชำระหนี้ไม่ได้นั้นเอง    กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขายจึงมีเพียงเท่านี้ขอให้ท่านวางระบบไว้ให้มั่งคงนะครับ    
 
                                                                                                                                              ทนายอำพล  รัตนมูสิก