ภาวะผู้นำ (Leadership)
โดย อาจารย์สุรวัฒน์ ชมภูพงษ์
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ผู้นำที่แท้จริงคือผู้นำที่มีผู้ศรัทธาอยากที่จะเดินตาม” คำกล่าวข้างต้นนั้นเป็นความจริงที่คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธเพราะการจะเป็น “ผู้นำ” คนนั้น มิใช่นึกอยากจะเป็นก็ลุกขึ้นมาประกาศตัวเองแล้วหวังว่าจะมีคนมาเดินตาม เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นน่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแล้วล่ะครับ เคยสังเกตกันบ้างมั้ยครับว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในองค์กร ระดับประเทศหรือระดับโลก ผู้คนมักจะสงบนิ่งอยู่ก่อนเพื่อเฝ้ามองและดูท่าทีของผู้นำคนใหม่ว่าจะมีพฤติกรรมหรือความคิดความอ่านเป็นเช่นใด จะเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงแบบ “หน้ามือเป็นหลังมือ” หรือแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” ผู้นำบางคนมีบุคลิก “โฉ่งฉ่าง” บางคนมาแบบ “น้ำนิ่งไหลลึก” บางคนมีลีลา “ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว” แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม พอเวลาผ่านไปได้สักระยะหนึ่ง สภาพความเป็นตัวตนที่แท้จริงของผู้นำนั้นๆ ก็จะปรากฏออกมาให้สาธารณชนได้เห็น จะเห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่ บางครั้งมันก็ขึ้นอยู่กับวิธีการของผู้นำคนนั้นๆ ผู้นำบางคนถึงกับไม่แน่ใจในสภาพที่แท้จริงของตนเอง จึงต้องจ้างมืออาชีพเข้ามาสร้างหรือบางครั้งถึงขั้นกอบกู้ “ภาพลักษณ์” ของตนเองให้ดูดี ดูเด่นเพื่อให้เป็นที่ยอมรับต่อไป
ความเข้าใจเรื่อง “ภาวะผู้นำ” ของผู้คนในสังคมทุกวันนี้ยังไม่เข้าใจกันถ่องแท้นัก เพราะบางครั้งพากันเข้าใจไปว่าใครก็ตามที่ได้รับแต่งตั้งมีตำแหน่งเป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งอาจจะพอเรียกได้ว่าเป็น “ผู้บริหาร” เท่านั้น แต่ถ้าเป็นผู้บริหารที่ปราศจาก “ภาวะผู้นำ” ผู้บริหารนั้นก็มิใช่ “ผู้นำ” ในขณะที่คนบางคนมี “ภาวะผู้นำ” แต่ไม่ได้รับการแต่งตั้ง เขาจึงไม่ได้เป็น “ผู้บริหาร” แต่ถ้าใครก็ตามได้รับแต่งตั้งเป็น “ผู้บริหาร” และมี “ภาวะผู้นำ” ด้วย นั่นแหล่ะ จึงจะเรียกได้ว่าเป็น “ผู้นำ” อย่างแท้จริง
ดังนั้นเราจึงควรมาทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า “ผู้นำ” นั้นย่อมหมายถึงคนที่มีอิทธิพลชักนำหรือโน้มน้าวให้คนอื่นเกิดความศรัทธาอยากที่จะทำตาม เพราะเขาสามารถที่จะกำจิตใจของลูกน้องไว้ได้ และมีศิลปะจูงใจให้ลูกน้องปฏิบัติตามความประสงค์ด้วยความเต็มใจที่จะปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีข้อแม้จนบรรลุภารกิจ ผู้นำจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือ ศรัทธา รักและยำเกรง จนเป็นศูนย์รวมแห่งพลังของคนในองค์กร เขาจึงเป็นดุจดวงประทีปของหน่วยงาน เป็นสัญลักษณ์และหลักชัยในการดำเนินงาน โดยมีคุณสมบัติที่คนมี “ภาวะผู้นำ” (Leadership) พึงมีดังนี้ คือ
L = Lively เป็นบุคคลที่มีชีวิตชีวา ใครเข้าใกล้ก็จะรู้สึกอบอุ่น เต็มเปี่ยมไปด้วยอัธยาศัยไมตรี บุคคลประเภทนี้มักจะรู้จักบริหารเวลาทั้งกับหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว และถ้าหากมีความสุขกับการทำงานด้วยแล้ว ความสดใส ความมีชีวิตชีวาจะบังเกิดมากยิ่งขึ้นจนเป็นที่ประจักษ์
E = Encourage รู้จักบำรุงน้ำใจผู้คนโดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา หากมีอะไรส่งเสริมสนับสนุนได้ เขาจะไม่รั้งรอที่จะกระทำทันที
A = Active เป็นผู้ที่มีความคล่องแคล่ว กระตือรือร้น แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้บรรยากาศในที่ทำงานกระฉับกระเฉงกระชุ่มกระชวย
D = Decisive มีความกล้าหาญในการตัดสินใจและมีความเด็ดขาด เนื่องจากมีความรู้ มีประสบการณ์และข้อมูลแน่นหนาในการตัดสินใจ
E = Endurance มีความอดทนอดกลั้นต่อปัญหาที่รุมเร้าเข้ามาในทุกรูปแบบ ทั้งเรื่องการบริหารงานและบริหารคน
R = Responsible มีความรับผิดชอบต่อภารกิจทุกอย่างที่เกิดขึ้นในองค์กร ทั้งจากการกระทำของตนเองและผู้ใต้บังคับบัญชา
S = Smart มีความเฉลียวฉลาด สง่างามในทุกท่วงท่า อิริยาบถ ทั้งความคิดและการกระทำ
H = Healthy มีสุขภาพทั้งกายและจิตใจดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรู้จักการผ่อนคลายและกำจัดความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
I = Informative มีความสนใจและติดตามข้อมูลข่าวสาร ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร
P = Polite มีความสุภาพอ่อนโยน อ่อนน้อมถ่อมตนจนเป็นที่เลื่องลือและยอมรับของทุกฝ่าย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการเป็น “ผู้นำ” ที่มี “ภาวะผู้นำ” เท่านั้น ยังมีองค์ประกอบหรือปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้ อาทิ การเข้าใจในธรรมชาติของคน ศิลปะการตำหนิ วัฒนธรรมองค์กร วัฒนธรรมท้องถิ่น การคิดในเชิงบวกและสร้างสรรค์
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดที่น่าจะพึงตระหนักก็คือ บางครั้ง “ผู้นำ” อาจจะไม่ต้องเก่งหมดทุกเรื่องก็ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะรู้สึกว่าตนไม่ได้มีโอกาสที่จะได้แสดงความสามารถอะไรบ้างเลย เพราะ “ผู้นำ” รู้ไปหมดเสียทุกเรื่อง ดังนั้นคำสอนของผู้ใหญ่จึงมักเตือน “ผู้นำ” ว่า “การแกล้งทำเป็นโง่นั้น บางครั้งเป็นความฉลาดที่สุด” แต่คนโบราณก็ยังคงสอนลูกหลานกำกับไว้อีกด้วยนะครับว่า “โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก โง่มากๆ ก็ยากที่จะเป็นใหญ่”