สัมภาษณ์พิเศษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด


สัมภาษณ์พิเศษ

คุณพิทักษ์ พฤทธิสาริกร

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด

 

 
   

 1. กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจปีนี้ของฮอนด้าคืออะไร

  • ภาพรวมของตลาดรถยนต์อยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากหลายเหตุการณ์ ทั้งเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึงความผันผวนของตลาดที่เกิดจากโครงการรถคันแรก ซึ่งแม้จะจบไปนานแล้ว แต่ก็ยังมีผลกระทบต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และอนาคต
  • ฮอนด้าดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ การเป็นองค์กรที่สังคมต้องการให้ดำรงอยู่ โดยเน้นการให้บริการอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าชาวไทย
  • การเป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยม ได้รับความชื่นชอบจากลูกค้า และเป็นแบรนด์อันดับ 1 ในใจลูกค้านั้น ทำให้เรารู้สึกภูมิใจมากกว่าการเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในด้านยอดขาย ดังเช่นที่ฮอนด้าได้รับรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยม (TAQA-Thailand Automotive Quality Award) ประเภท   แบรนด์ยอดนิยม ด้านภาพลักษณ์มีความน่าเชื่อถือถึง 3 ปี ซ้อน (2555-2557)

 

2. ในโลกยุคดิจิตัลในปัจจุบัน อะไรคือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภค

  • ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันไม่ได้เลือกซื้อสินค้า เพราะความต้องการในสินค้าหรือคุณภาพเท่านั้น แต่ยังมองไปถึง การเป็นที่รักและการเป็นแบรนด์ที่ดีของสังคมอีกด้วย
  • เราจึงอยากเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รักของลูกค้า เราจึงต้องมีความจริงใจในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น การมอบประโยชน์ได้จริงตามที่สัญญาไว้ เป็นที่พึ่งพิงได้ ทำให้ผู้บริโภครู้สึกได้ถึงความจริงใจที่แบรนด์มีให้ และเกิดความผูกพันที่ลึกซึ้ง เป็นแบรนด์ที่ได้มอบประสบการณ์ และมุมมองดีๆ ในชีวิต สามารถให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่าย และรู้สึกเป็นกันเอง สื่อสารด้วยความจริงใจเพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับผู้บริโภค เน้นสร้างความรักที่ยั่งยืนระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค สนับสนุนให้คนที่รักเราอยู่แล้วได้สามารถบอกต่อ และชักชวนคนอื่นให้เข้ามาร่วมกับชมรมคนรักแบรนด์นี้ จนเกิดเป็น word-of-mouth
  • นอกจากนี้ ในยุคที่ Consumer Generated Content การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รัก จึงต้องให้ความสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้บริโภคไปพร้อมกัน โดยยึด “คอนเทนท์” เป็นโจทย์หลักในการสื่อสาร และเมื่อ Content is King เราจึงต้องสร้าง Content ให้ “โดน” ใจผู้บริโภค การสื่อสารจึงต้องสร้าง Big Idea ที่จะทำให้ผู้บริโภค “ชอบและรักแบรนด์” และพร้อมเปิดรับข้อมูลและแชร์ต่อหากโดนใจ นั่นจึงจะทำให้แบรนด์ เป็นที่หนึ่งในใจผู้บริโภคได้
  • กล่าวโดยสรุปคือ การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รัก ต้องมีการสื่อสารและนำเสนอที่โดนใจ จริงใจ มีความน่าเชื่อถึอ เพื่อให้เกิดการยอมรับมากขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และสามารถขยายไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นได้ และทำให้แบรนด์เป็นที่หนึ่งในใจผู้บริโภคตลอดไป

 

3. ผลิตภัณฑ์อะไรที่ขายดีที่สุด / ได้รับความนิยมสูงสุด

  • ฮอนด้า เอชอาร์-วี ได้รับกระแสการตอบรับที่ดีเยี่ยม ด้วยยอดจองกว่า 15,000 คัน ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่การเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา และส่งมอบไปแล้วกว่า 8,000 คัน ส่งผลให้ฮอนด้า เอชอาร์-วี มียอดขายสูงสุดในตลาดรถยนต์ครอสโอเวอร์หรือรถยนต์เอสยูวีโดยรวม อีกทั้งยังสามารถสร้างตลาดของรถยนต์ประเภทนี้ในระดับคอมแพคท์เซ็กเมนต์ขึ้นใหม่
  • ฮอนด้า เอชอาร์-วี เป็นยนตรกรรมสปอร์ตครอสโอเวอร์ที่ลงตัวในทุกมิติ ด้วยดีไซน์ภายนอกสไตล์สปอร์ต ผสานกับพื้นที่ภายในกว้างขวาง สะดวกสบายเหนือระดับ และมาพร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานในระดับพรีเมียม อีกทั้งยังมีสมรรถนะการขับขี่อันทรงพลังและเร้าใจในสไตล์สปอร์ต ตลอดจนผสานมาตรฐานความปลอดภัยที่ล้ำสมัยและครบครัน ฮอนด้า เอชอาร์-วี จึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว และสามารถเติมเต็มความต้องการของลูกค้าจากหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าที่กำลังมองหาทางเลือกใหม่ของรถยนต์ในระดับคอมแพคท์เซ็กเมนต์
  • จากกระแสการตอบรับที่ดีมากจากลูกค้าชาวไทย สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของฮอนด้า ในการศึกษาความต้องการและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำไปพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างสูงสุดและในเวลาที่เหมาะสม เช่นเดียวกับที่ฮอนด้า ซีอาร์-วี เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ในการเข้ามาสร้างตลาดรถยนต์เอสยูวีในระดับบน นับตั้งแต่ที่เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2539 และยังคงเป็นผู้นำในตลาดนี้จนถึงปัจจุบัน
  • อย่างไรก็ตาม จากยอดจองที่สูงมากในช่วงที่ผ่านมา อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบฮอนด้า เอชอาร์-วี ในบางรุ่น ทั้งนี้ฮอนด้าได้เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อเร่งทยอยส่งมอบรถให้แก่ลูกค้าที่รอรับรถโดยเร็วที่สุด

 

4. บริษัทฯ มีแผนในการขยายธุรกิจหรือไม่

  • เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ฮอนด้าได้ประกาศก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าแห่งใหม่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 17,150 ล้านบาท โดยโรงงานแห่งใหม่นี้จะมีกำลังการผลิต 120,000 คันต่อปี และจะผลิตรถยนต์ประเภทซับคอมแพคท์ เพื่อรองรับตลาดในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา กลุ่มประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
  • โรงงานแห่งใหม่ที่ปราจีนบุรีจะเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย โดยจะนำนวัตกรรมการผลิตอันล้ำสมัยของโรงงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าที่เมืองโยริอิ ประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในกระบวนการผลิตแต่ละขั้นตอนและมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่กระบวนการเชื่อมตัวถัง การพ่นสี ไปจนถึงการประกอบรถยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีระบบการใช้น้ำหมุนเวียน เพื่อลด
    การใช้น้ำในทุกขั้นตอนการผลิตอีกด้วย
  • นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตที่โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า จ.พระนครศรีอยุธยา อีกมูลค่า 2,910 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 300,000 คันต่อปีในช่วงต้นปี 2557 ที่ผ่านมา เมื่อรวมกำลังการผลิตจากโรงงานทั้งสองแห่งเข้าด้วยกัน ฮอนด้าจะมีกำลังการผลิตรวมที่ 420,000 คันต่อปี ในปี 2559
  • ปัจจุบัน การก่อสร้างโรงงานที่ปราจีนบุรีมีความคืบหน้าไปได้ประมาณ 80% โดยล่าสุดมีแผนที่จะเริ่มดำเนินการผลิตบางชิ้นส่วนและเครื่องยนต์ก่อนในเดือนตุลาคม 2558 และเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบที่เดือนมีนาคม 2559

 

5. บริษัทเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ AEC อย่างไร

  • การเปิด AEC เป็นเรื่องใหม่และท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศ เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแน่นอน  โดยเฉพาะความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในด้านคุณภาพมากขึ้น เนื่องจากการกีดกันมาตรการทางภาษีลดลง
  • ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ เราได้ใช้สิทธิประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรีภายใต้นโยบาย AFTA อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับ AEC และมีความคุ้นเคยมาในระดับหนึ่งแล้ว
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนามากว่า 40 ปี ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งในหลายด้าน อาทิ การลงทุนโดยตรงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ด้านเทคโนโลยีและการผลิต  ระบบอินฟราสตรัคเจอร์ ระบบโลจิสติก อุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็ง ทั้งเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งขนาดกลางขนาดเล็กรองรับจำนวนมาก ประกอบกับความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์  การเปิดตัวของประชาคมอาเซียนจะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในกลุ่มนี้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
  • อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องยกระดับตนเองในด้านการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาตนเองสู่การตั้งศูนย์ทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศซึ่งจะเอื้อให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลง การสร้างมูลค่าเพิ่ม ความพร้อมด้านแรงงาน และภาษา เป็นต้น ตลอดจนการสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม
  • การแลกเปลี่ยนรถยนต์สำเร็จรูปภายในภูมิภาคนั้นอาจเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากแต่ละประเทศก็มีนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศนั้นๆ เช่น ไทยมีอีโคคาร์ มาเลเซียมีนโยบาย Local content ที่จะได้ส่วนลดทางภาษีในการผลิตรถยนต์ ดังนั้น ประเทศที่มีฐานการผลิตรถยนต์ในประเทศอยู่แล้ว อาจค่อนข้างเป็นไปได้ยาก
  • สำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ไม่จำเป็นต้องมีโรงงานตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับ ที่ไหนที่มีการผลิตชิ้นส่วนที่มีคุณภาพ ค่าขนส่ง และ QCD
  • การผลิตรถยนต์จึงเป็นการใช้ชิ้นส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ ตลาด AEC จึงเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นฐานการส่งออก เพื่อผลิตให้ได้มากที่สุด แบบเต็มกำลังการผลิต