แนะผู้ประกอบการไทยควรมองหาโอกาส CLM


        มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ CLM ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น สำหรับสินค้าส่งออกจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้รับผลบวกจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจ แนะผู้ประกอบการไทยควรหันมามองหาโอกาสทางธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น

        ข้อมูลโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์ (CLM) ในปี 2557 มีมูลค่ารวม 18,714 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจำแนกเป็นการส่งออก 12,797 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้า 5,917 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้ว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับ CLM จะมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 4.1 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทยในปี 2557 แต่เมื่อมองในมิติเชิงพลวัตกลับพบว่า การค้าระหว่างไทยกับ CLM มีอัตราการขยายตัวที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยโดยรวมที่หดตัวลง 

         ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้การค้าระหว่างไทยกับ CLM เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ความพยายามในการพัฒนาประเทศของทางการ มีการเปิดประเทศมากขึ้น และการเข้ามาของเงินลงทุนจากต่างประเทศ รวมไปถึงการเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) อย่างสมบูรณ์ และการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวส่งผลต่อรูปแบบการค้าระหว่างไทยและ CLM รวมถึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอนุภุมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างมีนัยสำคัญ

         มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับ CLM นั้น นอกจากจะขยายตัวไปตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยรวมแล้ว หากพิจารณาในเชิงโครงสร้างของสินค้า จะพบว่า มีพัฒนาการที่สะท้อนห่วงโซ่การผลิตระดับอนุภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น กล่าวคือ ไทยมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าขั้นกลาง (Intermediate goods) จากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ไทยเน้นนำเข้าเฉพาะสินค้าขั้นต้น (Primary products) เช่น ผัก ผลไม้ สินแร่ ฯลฯ และพลังงาน เป็นหลัก

         อุตสาหกรรมนำร่องที่มีการเริ่มสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับอนุภูมิภาคระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้ชิ้นส่วนค่อนข้างมาก และแต่ละขั้นตอนการผลิตมีความต้องการด้านทักษะแรงงานที่หลากหลาย ซึ่งเหมาะต่อการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ทั้งสองอุตสาหกรรมดังกล่าวยังเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่เข้ามาใน AEC ด้วย ดังนี้ 

– ห่วงโซ่อุปทานไทย-สปป.ลาว ซึ่งเชื่อมโยงด้วยพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) โดยอุตสาหกรรมกล้องดิจิตอล เป็นอุตสาหกรรมนำร่องที่สร้างสายการผลิตเครื่องรับส่งสัญญาณภาพและเสียง

– ห่วงโซ่อุปทานไทย-กัมพูชา ซึ่งเชื่อมโยงด้วยพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจแนวตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) โดยอุตสาหกรรมรถยนต์ มีฐานการผลิตสายไฟสำหรับรถยนต์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง กัมพูชา และส่งสินค้ามาประกอบในไทย ทำให้ไทยนำเข้าลวดและสายเคเบิลจากกัมพูชาในสัดส่วนที่มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากร้อยละ 3.77 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 12.26 ในปี 2557

– ห่วงโซ่อุปทานที่เกิดขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สะท้อนภาพไทยในฐานะเป็นฐานการผลิตที่ประกอบไปด้วยแรงงานมีฝีมือ (Skilled labor) ที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อน ขณะที่กัมพูชาและสปป.ลาว มีแรงงานพื้นฐาน (Unskilled labor) ต้นทุนต่ำ ทำให้ทั้งสองประเทศเหมาะสมในการรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

        อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างการค้าระหว่างไทยกับเมียนมาร์ยังไม่บ่งบอกถึงการแบ่งงานกันทำระหว่างประเทศตามแบบแผนที่เกิดขึ้นแล้วกับสปป.ลาวและกัมพูชา ทว่า เมียนมาร์ยังมีความน่าสนใจในแง่ของการมีทรัพยากรแรงงานที่อุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงการมีตลาดภายในประเทศที่ใหญ่ ทำให้คาดว่าในอนาคตอันใกล้ น่าจะเห็นการออกไปลงทุนในภาคการผลิตในเมียนมาร์ของผู้ประกอบการไทยเพื่อตอบโจทย์การค้าและการลงทุน และเติมเต็มห่วงโซ่การผลิตภายในอนุภูมิภาคให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

        การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มประเทศ CLM อย่างก้าวกระโดด สะท้อนโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งมีคุณภาพเป็นที่น่าเชื่อถือในสายตาของประเทศเพื่อนบ้านไปจำหน่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของเขตเมือง ทำให้รสนิยมในการซื้อสินค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน โดยมีการซื้อสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งมักเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น โทรศัพท์มือถือและรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ การเร่งพัฒนาประเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ยังส่งผลให้การส่งออกวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น ของไทยไปยังประเทศเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างมาก

        ทั้งนี้ การเปิดเขตการค้าเสรีในปี 2558 ที่จะเป็นปัจจัยหลักในการยกระดับห่วงโซ่การผลิตในลุ่มน้ำโขง ตลอดจนแรงสนับสนุนจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของการค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย จะส่งเสริมให้มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับ CLM มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2558 มูลค่าการค้าของไทยกับCLM จะขยายตัวร้อยละ 4.6 จำแนกเป็นการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 3.7

        ซึ่งเป้าหมายหลักของ AEC คือการเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วม (Single market and common production base) ของประเทศสมาชิก ในฐานะที่ไทยตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางของภูมิภาค ทำให้การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนแรงงานและทรัพยากรที่ต่ำ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษาความสามารถทางการแข่งขันของไทยที่เริ่มเสื่อมถอยลงจากต้นทุนแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ พัฒนาการการเชื่อมโยงภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion Economic Corridor Development) ทั้งในแง่ของระบบการคมนาคมขนส่ง และการกำจัดอุปสรรคทางด้านการค้าระหว่างกัน ทำให้เริ่มเกิดห่วงโซ่การผลิตในระดับอนุภูมิภาค อันมีไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและขยายฐานการผลิต/การลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามบริเวณแนวพรมแดนที่ติดกับไทย ซึ่งทั้งฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ได้มีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ/เขตอุตสาหกรรมคู่ขนานขึ้นมา เพื่อรองรับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และตอบโจทย์เรื่องห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนความสามารถทางการแข่งขันของภูมิภาค

        ผู้ประกอบการไทยเองควรมีการปรับตัวโดยแสวงหาโอกาสเพื่อขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านและสร้างห่วงโซ่อุปทานภายในอนุภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ความไม่มั่นคงทางด้านการเมือง ความไม่พร้อมของสาธารณูปโภค ตลอดจนขนาดของตลาดใน CLM ที่อาจยังไม่ใหญ่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economies of scale) ก็เป็นประเด็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจไปลงทุนในประเทศเหล่านี้