หอการค้าไทย พร้อมด้วยสภาหอการค้าไทย จัดงานสัมมนา “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่และนโยบายส่งเสริม SMEs” ในวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2558 ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในมาตรการและสิทธิประโยชน์ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้เชียวชาญด้านการลงทุน ทั้งนี้ ได้แนบรายละเอียดกิจการของSMEs ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ
คุณนฤมตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เผย นโยบายส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ คือ
1. ส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม และการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
2. ส่งเสริมกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทดแทน เพื่อการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
3. ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของการลงทุน (Cluster) ที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่า
4. ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เกื้อกูลต่อการสร้างความมั่นคงในพื้นที่
5. ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะพื้นชายแดน ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และรองรับการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
6. ส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ และเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ
สำหรับหลักเกณฑ์แบ่งเป็น 2 หลักเกณฑ์คือ หลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ และหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ ซึ่งมีผลบังคับใช้กับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นมา โดยหลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ ได้แก่ การพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน การป้องกันผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และเงินลงทุนขั้นต่ำ และความเป็นไปได้ของโครงการ ส่วนหลักเกณฑ์การให้สิทธฺประโยชน์ แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ ซึ่งจำกำหนดสิทธิประโยชน์ตามลำดับความสำคัญของประเภทกิจการ และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ซึ่งมีลักษณะย่อย ๆ คือ สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน เช่น R&D, การฝึกอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง, การพัฒนา Local Supplier, การออกแบบ อีกทั้งสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเชิงพื้นที่ โดยแบ่งตามเขตจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนิคมอุตสาหกรรม สุดท้ายคือ สิทธิประโยชน์สำหรับ SMEs ซึ่งกิจการที่จะได้รับสิทธิต้องมีหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 51%
ส่วนด้านการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดจำกัดความสามารถของ SMEs คุณ ซ่อนกลิ่น พลอยมี ผู้อำนวยการหน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้แนะนำ กิจกรรมของ BUILD โดยอธิบายว่า BUILD คือ การเชื่อมโยงสร้างโอกาสในการซื้อขาย และการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการ กล่าวคือ BUILD จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนของประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ตลาดชิ้นส่วนในประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตชิ้นส่วนได้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้ออย่างแท้จริง อีกทั้งกระตุ้นให้มีการใช้ชิ้นส่วนจากในประเทศมากขึ้น และเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ
ทั้งนี้ BUILD จะช่วยสนับสนุนในการจัดหาชิ้นส่วนในประเทศการจับคู่เจรจาธุรกิจ การส่งเสริมให้ธุรกิจของท่านได้เข้าร่วมงานแสดงต่าง ๆ ในต่างประเทศ เป็นตลาดกลางในการซื้อขายชิ้นส่วน และจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้ในการยกระดับการจัดการ และการผลิต สำหรับผู้สนใจสามารถติดตาม กิจกรรมของ BUILD ได้ที่ http://build.boi.go.th/